ความคาบเกี่ยวระหว่างลิขสิทธิ์ศิลปประยุกต์กับสิทธิบัตรออกแบบผลิตภัณฑ์

ศาลฎีกาได้แยกความคุ้มครอง ลิขสิทธิ์ศิลปประยุกต์กับสิทธิบัตรออกแบบผลิตภัณฑ์ ออกจากกัน โดยดูจากวัตถุประสงค์ของการสร้างงาน เมื่อได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายสิทธิบัตรออกแบบผลิตภัณฑ์แล้วจะไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ประเภทศิลปประยุกต์อีก (ดูวิทยานิพธ์ เรื่อง ปัญหากฎหมายในการคุ้มครองงานศิลปประยุกต์ นิลุบล ขัมภรัตน์ จุฬาฯ ๒๕๕๔)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๐๗๓/๒๕๕๗

โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 50,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง และห้ามจำเลยทั้งสี่ผลิตกระเบื้องที่ลอกเลียนสินค้าของโจทก์ทั้งสองออกจำหน่ายแข่งขันกับโจทก์ทั้งสอง ให้จำเลยที่ 1 ส่งคืนแบบแม่พิมพ์ต้นฉบับและที่ลอกเลียนทั้งหมดที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 คืนแก่โจทก์ทั้งสอง ให้จำเลยทั้งสี่ชำระค่าเสียหายเป็นรายเดือนจำนวนเดือนละไม่ต่ำกว่า 5,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสี่จะหยุดผลิตและจำหน่ายสินค้ากระเบื้อง

จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง พิพากษาห้ามจำเลยที่ 1 ผลิตแบบแม่พิมพ์กระเบื้องพิพาทอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ (ที่ถูก โจทก์ที่ 1) กับให้ส่งคืนแม่พิมพ์ต้นแบบและแม่พิมพ์ที่ลอกเลียนทั้งหมดที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 แก่โจทก์ที่ 1 ห้ามจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ผลิตและจำหน่ายกระเบื้องพิพาทแข่งขันกับโจทก์ (ที่ถูก โจทก์ที่ 1) ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 500,000 บาท และให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ชำระเงินจำนวน 10,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันที่ 26 กันยายน 2549 อันเป็นวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ (ที่ถูก โจทก์ที่ 1) กับให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นรายเดือนจำนวนเดือนละ 500,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 จะหยุดผลิตและจำหน่ายกระเบื้องพิพาทอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ต่อโจทก์ (ที่ถูก โจทก์ที่ 1) กับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ (ที่ถูก โจทก์ที่ 1) โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท ยกฟ้องโจทก์ที่ 2

จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์ที่ 1 และจำเลยทั้งสี่ไม่โต้แย้งกันในชั้นอุทธรณ์รับฟังได้ว่า เมื่อปี 2526 โจทก์ที่ 1 ซื้อแบบแม่พิมพ์กระเบื้องจากบริษัทคาตายามาคอร์ปอเรชัน จำกัด ประเทศญี่ปุ่น แล้วใช้แบบแม่พิมพ์นั้นผลิตกระเบื้องออกจำหน่ายโดยใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "KENZAI" ปี 2535 โจทก์ที่ 1 จ้างบริษัทเค.ที.ที. แมชชีนเนอรี่ จำกัด ให้ทำแบบแม่พิมพ์กระเบื้องใหม่โดยปรับปรุงจากแบบเดิม ต่อมาโจทก์ที่ 1 จ้างจำเลยที่ 1 ให้ทำแบบแม่พิมพ์กระเบื้องตามแบบใหม่ ระหว่างปี 2546 ถึงปี 2549 จำเลยที่ 4 ทำงานกับบริษัทโจทก์ที่ 1 ในตำแหน่งผู้จัดการโรงงาน ต่อมาจำเลยที่ 4 ลาออกมาทำงานกับห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 จ้างจำเลยที่ 1 ทำแบบแม่พิมพ์กระเบื้องเพื่อผลิตกระเบื้องซึ่งใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "BEZEN" โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้จำหน่าย โจทก์ที่ 2 ไม่มีลิขสิทธิ์ในงานแบบแม่พิมพ์กระเบื้องตามฟ้อง โจทก์ที่ 2 จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นคดีนี้ โจทก์ที่ 2 ไม่อุทธรณ์ คดีสำหรับโจทก์ที่ 2 กับจำเลยทั้งสี่ย่อมเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ข้อแรกว่า แบบแม่พิมพ์กระเบื้องเป็นงานศิลปกรรมประเภทประติมากรรมและงานสถาปัตยกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ที่ 1 ดังที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยหรือไม่ จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์สรุปได้ว่าแบบแม่พิมพ์กระเบื้องของโจทก์ที่ 1 ไม่ใช่งานศิลปกรรมประเภทงานประติมากรรมและงานสถาปัตยกรรม แต่เป็นการดัดแปลงหรือลอกเลียนแบบงานกระเบื้องของประเทศญี่ปุ่น จึงไม่ใช่งานอันมีลิขสิทธิ์ โจทก์ที่ 1 ไม่มีลิขสิทธิ์ในแบบแม่พิมพ์กระเบื้องนั้น ในปัญหานี้โจทก์ที่ 1 นำสืบโดยมีนางสาวนลินี กรรมการบริษัทโจทก์ทั้งสองมาเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นกับมีนายจิตติ ช่างเปลี่ยนแม่พิมพ์กระเบื้องบริษัทโจทก์ที่ 1 นางสาวเพียงใจ พนักงานบริษัทคัฟเวอร์เอเชีย จำกัด นายกิตติ ผู้รับจ้างทำแม่พิมพ์กระเบื้องให้แก่โจทก์ที่ 1 นายกฤษฎา พนักงานฝ่ายขายบริษัทโจทก์ที่ 1 นางสาวเรืองรอง นิติกร กรมทรัพย์สินทางปัญญา และนางสาวลดา นักวิทยาศาสตร์ กรมวิทยาศาสตร์บริการ มาเบิกความเป็นพยานได้ความว่า โจทก์ที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เดิมชื่อบริษัทพิมานซีรามิคส์ จำกัด ได้จดทะเบียนจัดตั้งตั้งแต่ปี 2526 มีนางสาวนลินีเป็นกรรมการเพียงคนเดียว ตามหนังสือรับรอง โจทก์ที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อปี 2546 ตามหนังสือรับรอง จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบธุรกิจรับจ้างทำแบบแม่พิมพ์กระเบื้อง ตามหนังสือรับรอง จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2548 ประกอบธุรกิจจำหน่ายกระเบื้องภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า "BEZEN" (บีเซน) ตามหนังสือรับรอง จำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2548 ประกอบธุรกิจผลิตกระเบื้องภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า "BEZEN" ออกจำหน่าย ตามหนังสือรับรอง โจทก์ทั้งสองมอบอำนาจให้นายนันทชัย ฟ้องและดำเนินคดีแทน ตามหนังสือมอบอำนาจ โจทก์ที่ 1 เป็นโรงงานผลิตกระเบื้องจำหน่ายภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า "KENZAI" เริ่มตั้งแต่ประมาณปี 2526 เนื่องจากครอบครัวของนางสาวนลินีกรรมการบริษัทโจทก์ที่ 1 ประกอบอาชีพผลิตกระเบื้องเซรามิกมาก่อน ทำให้นางสาวนลินีมีความชำนาญและประสบการณ์ในการผลิตกระเบื้องเซรามิกออกจำหน่าย นางสาวนลินีจึงคิดผลิตกระเบื้องที่มีขนาดและคุณลักษณะพิเศษเฉพาะ โดยเฉพาะรูปร่างและขนาดรวมทั้งรูปลักษณะที่แปลกใหม่ไม่มีผู้ผลิตมาก่อนในประเทศไทย เน้นความสวยงามให้แตกต่างจากเดิมที่ผลิตกระเบื้องประเภทเซรามิกเคลือบซึ่งมีผู้ผลิตกระเบื้องประเภทเดียวกันหลายราย ทำให้มีการแข่งขันในท้องตลาดสูงโดยต้องการที่จะผสมผสานงานศิลปกรรมและประติมากรรมเพื่อใช้ตกแต่งงานก่อสร้างทั้งภายนอกและภายในอาคาร จึงจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทโจทก์ที่ 1 ขึ้น แล้วว่าจ้างให้บริษัทคาตายามาคอร์ปอเรชัน จำกัด (KATAYAMA CORP.) และทีมงานในประเทศญี่ปุ่นมาออกแบบงานรูปลักษณะพิเศษเป็นสินค้าประเภทกระเบื้องที่แตกต่างจากที่ผลิตและจำหน่ายในประเทศไทย รวมทั้งวัสดุที่ใช้ผลิตและสร้างรูปแบบลักษณะแม่พิมพ์ใช้เป็นแบบผลิตตามความพึงพอใจของโจทก์ที่ 1 ซึ่งขณะนั้นโจทก์ที่ 1 จดทะเบียนเป็นชื่อบริษัทพิมานซีรามิคส์ จำกัด งานออกแบบกระเบื้องของโจทก์ที่ 1 มีประมาณ 5 แบบ ประกอบด้วย รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าการออกแบบเพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งาน และสร้างแบบผลิตระบุมาตรฐานมีขนาด 4 x 20 เซนติเมตร แต่ผลิตจริงเป็นขนาด 4 x 21 เซนติเมตร เป็นเอกลักษณ์ที่ไม่มีผู้ใดทำมาก่อนเพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งาน โดยเมื่อติดตั้งตกแต่งแล้วรวมกับการเว้นช่องวางปูนยาแนวจะต่อเชื่อมกับกระเบื้องรูปแบบอื่นของโจทก์ที่ 1 ได้สวยงามและลงตัว นอกจากนั้นยังมีรูปสี่เหลี่ยมคางหมู รูปสามเหลี่ยม รูปแบบในปัจจุบันที่ค้นหาพบมีเพียงแบบสี่เหลี่ยมจัตุรัสและแบบสี่เหลี่ยมคางหมู ส่วนแบบอื่นที่โจทก์ที่ 1 ว่าจ้างและชำระค่าจ้างให้แก่บริษัทคาตายามาคอร์ปอเรชัน จำกัด และทีมงานในประเทศญี่ปุ่นออกแบบให้ค้นหาไม่พบเนื่องจากเป็นเวลายาวนาน งานออกแบบกระเบื้องของโจทก์ที่ 1 ทั้งห้าแบบ ซึ่งประกอบด้วยงานแบบแม่พิมพ์รูปลักษณะกระเบื้องซึ่งจะมีรูปทรงเรขาคณิตเป็นพื้นฐานประกอบแต่การกำหนดรูปทรง ขนาด จะกำหนดให้แตกต่างจากบุคคลอื่นที่ผลิตจำหน่ายในต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น ยึดถือตามแนวความคิดของนางสาวนลินีกรรมการบริษัทโจทก์ที่ 1 เป็นผู้กำหนดให้เป็นเอกลักษณ์พิเศษเฉพาะเพื่อมิให้มีขนาดซ้ำกับบุคคลอื่นและคุณลักษณะเฉพาะของความไม่เรียบด้านหน้ากระเบื้อง ด้านข้างมีความโค้งมนสร้างความแตกต่างเพื่อป้องกันมิให้มีการเลียนแบบด้วยการสร้างรอยหยักไม่เรียบบนพื้นผิวด้านหน้าตามความพึงพอใจของกรรมการบริษัทโจทก์ที่ 1 เป็นการออกแนวความคิดค้นหาทดลองและเลือกเองมิได้กำหนดสัดส่วนไว้ชัดเจนในงานเขียนแบบ อันทำให้ยากต่อการถูกลอกเลียนแบบและไม่ได้เลียนแบบธรรมชาติ งานชิ้นส่วนแบบแม่พิมพ์หลังจากที่ว่าจ้างกลุ่มทีมงานในประเทศญี่ปุ่นเขียนแบบกระเบื้องและแก้ไขจนเป็นที่พอใจแล้ว ซึ่งใช้เวลาเกือบ 1 ปี และชำระค่าจ้างอันเป็นการซื้อสิทธิในการจะใช้เป็นแบบของโจทก์ที่ 1 มาประกอบการผลิตกระเบื้องออกจำหน่าย โจทก์ที่ 1 ได้ว่าจ้างให้บริษัทดังกล่าวและทีมงานเขียนแบบกระเบื้อง "KENZAI" (เคนไซ) สร้างชิ้นส่วนแบบแม่พิมพ์ (เหล็ก) ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ได้แก่ ฐานล่างเพื่อรองรับการกดทับและสามารถจะระบุเครื่องหมายการค้าผู้ผลิตกระเบื้องนั้น ๆ ซึ่งมีความสำคัญน้อยที่สุดและเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ง่าย ส่วนที่ 2 เรียกว่าแบบแม่พิมพ์ด้านข้างเพื่อรองรับแรงอัดกระเบื้องและสามารถจะออกแบบให้เรียบตรง หรือแบบสันข้างมีความโค้งมน หรือกำหนดความไม่เรียบให้เป็นเอกลักษณ์เหมาะแก่การใช้งานตามความพึงพอใจของกรรมการบริษัทโจทก์ที่ 1 ส่วนที่ 3 ซึ่งเป็นส่วนสำคัญกำหนดความสวยงามและเป็นคุณลักษณะเฉพาะของกระเบื้อง "KENZAI" ได้แก่ รอยความไม่เรียบของผิวด้านหน้าที่จะนำมากดทับปั๊มลายผิวหน้า ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญบ่งชี้ความแตกต่างให้กระเบื้อง "KENZAI" มีความโดนเด่นสวยงามสะดุดตาแตกต่างจากความไม่เรียบของผิวหน้ากระเบื้องที่มีการผลิตในต่างประเทศและไม่มีการผลิตและจำหน่ายในประเทศไทยมาก่อนในขณะนั้น ยากแก่การลอกเลียนแบบให้เหมือนได้ ผู้ผลิตรายอื่นจะต้องได้ต้นแบบแม่พิมพ์จริงของโจทก์ที่ 1 เท่านั้น จึงจะสามารถผลิตเลียนแบบได้ ในขั้นตอนคิดค้นการผลิตและค้นหาภาพลายด้านหน้าอันเป็นลวดลายทางศิลปะเพื่อให้ได้ความสวยงามก่อนผลิตจริงออกจำหน่าย โจทก์ที่ 1 ได้ว่าจ้างชุดทำงานเขียนแบบและสร้างแบบแม่พิมพ์ด้วยการเริ่มสร้างหุ่นจำลองแม่พิมพ์ใช้เหล็กหล่อเป็นแม่พิมพ์ และใช้งานอิเล็กโทรดหรือแผ่นเหล็กในการทำแม่พิมพ์ แล้วใช้ความร้อนวาดกำหนดลวดลายความไม่เรียบลงในแบบแม่พิมพ์พื้นผิวที่จะใช้กดทับปั๊มผิวด้านหน้ากระเบื้อง "KENZAI" แล้วนำไปเผาตามความร้อนขนาดต่าง ๆ ทดลองจนได้ลวดลายสวยงามสะดุดตาแล้ว จึงจัดทำเป็นแบบแม่พิมพ์จริงที่จะนำมาใช้ผลิต หลังจากนั้นโจทก์ที่ 1 จึงชำระค่าจ้างในการคิดค้นและสร้างขึ้นตามที่โจทก์ที่ 1 ต้องการ อันเป็นการซื้อสิทธิมาผลิตตามกฎหมายของประเทศญี่ปุ่น หลังจากโจทก์ที่ 1 ได้สิทธิการผลิตจากผู้ที่ลงมือเขียนแบบและสร้างชิ้นส่วนแบบแม่พิมพ์แล้ว จึงให้จัดส่งให้โจทก์ที่ 1 ในประเทศไทยทั้งงานแบบแม่พิมพ์และชิ้นส่วนแบบแม่พิมพ์ต้นแบบอันมีคุณลักษณะเฉพาะดังกล่าว และโจทก์ที่ 1 ได้จัดหาซื้อเครื่องจักรมาใช้ในการผลิตและเริ่มคิดค้นที่จะเลือกวัสดุที่ใช้ในการผลิตซึ่งประกอบด้วยสี มวลสารที่ใช้ผลิตโดยเฉพาะดินและส่วนประกอบอื่น ๆ อันเป็นการริเริ่มคิดค้นสูตรที่จะผลิต รวมทั้งอุณหภูมิในการผลิต ใช้เวลาในการคิดค้นพัฒนาประมาณ 1 ปี ทดลองผลิตกระเบื้อง "KENZAI" จนได้สูตรลงตัวให้ความทนทาน ใช้สีจากต่างประเทศ ใช้ดินจากบางจังหวัดทางภาคเหนือ การควบคุมอุณหภูมิจำเพาะอันเป็นความลับของโจทก์ที่ 1 การผลิตกระเบื้องของโจทก์ที่ 1 เกิดจากการคิดค้นแบบกระเบื้องตั้งแต่ยกร่างรูปทรงและลวดลายในกระดาษร่างให้มีลักษณะสวยงามสะดุดตาและสะดวกในการใช้สอย แล้วนำมาวิเคราะห์ในเชิงเศรษฐกิจตามหลักวิชาการ ใช้เทคนิคที่เรียกว่าวิศวกรรมคุณค่าคือวิธีการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีในประเทศไทยขณะนั้นจะเป็นประเภทเซรามิกเผาเคลือบสีมันวาว เมื่อใช้ไปนาน ๆ สีจะซีด ไม่คงทนแข็งแรง โจทก์ที่ 1 ได้จัดทำขนาดไม่ซ้ำบุคคลอื่นเน้นความหนาและไม่ใหญ่เกินไปเหมาะที่จะตกแต่งทั้งภายในและภายนอกอาคารหรือบริเวณลานกว้างทำให้เกิดงานคุณค่าทางศิลปะและสถาปัตยกรรมควบคู่กับสิ่งปลูกสร้าง ทั้งให้ความแปลกใหม่และเพื่อให้ได้ต้นทุนต่ำจนได้รูปทรงและลวดลายที่พอใจแล้วเขียนแบบที่ถูกต้องและทำหุ่นจำลอง ต่อจากนั้นก็ทำการออกแบบชิ้นส่วนแบบแม่พิมพ์ผลิตกระเบื้องโดยใช้เหล็กทำแม่พิมพ์ ทำอิเล็กโทรดและผลิตแม่พิมพ์ เป็นการสร้างสรรค์อันเกิดจากการนำเอาการสร้างแบบแม่พิมพ์รูปลักษณะเฉพาะของกระเบื้อง "KENZAI" และแบบแม่พิมพ์ซึ่งเขียนด้วยลายเส้นประกอบกันเป็นรูปทรงอันเข้าลักษณะศิลปกรรมประเภทงานจิตรกรรมและการสร้างแบบแม่พิมพ์กับหุ่นจำลองกระเบื้องดังกล่าว ซึ่งเป็นงานสร้างสรรค์รูปทรงที่เกี่ยวกับปริมาตรที่สัมผัสและจับต้องได้ อันเข้าลักษณะศิลปกรรมประเภทงานประติมากรรมประกอบเข้าด้วยกันและสร้างขึ้นเป็นกระเบื้องเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการตกแต่งอาคารและบริเวณโดยรอบสิ่งปลูกสร้างให้เกิดความสวยงามยิ่งขึ้น นอกเหนือจากการชื่นชมในคุณค่าของตัวงานจิตรกรรมและประติมากรรมอันเข้าลักษณะเป็นศิลปประยุกต์ไม่ลอกเลียนแบบใครจนได้รับมาตรฐานรับรองคุณภาพจากประเทศสาธารณรัฐอิตาลีและสหรัฐอเมริกา สินค้าที่โจทก์ที่ 1 ผลิตเป็นสินค้าแปลกใหม่ขายได้ราคาสูงและพัฒนารูปรอยความไม่เรียบ โดยเฉพาะผิวด้านหน้าสวยงามตามความพึงพอใจของโจทก์ที่ 1 แต่แม่พิมพ์ชิ้นส่วนของแม่พิมพ์กระเบื้อง "KENZAI" นั้น เมื่อใช้ไปในช่วงระยะเวลาและจำนวนที่ผลิตระยะหนึ่งจะชำรุดสึกกร่อน เพราะเหตุนี้ในการผลิตจริง จึงจำต้องทำแบบลอกเลียนไปใช้ผลิตและเก็บแบบแม่พิมพ์ต้นแบบไว้ เมื่อมีการสึกกร่อนจะได้ลอกเลียนแบบแม่พิมพ์ต้นแบบได้ นับตั้งแต่ปี 2526 โจทก์ที่ 1 ได้สั่งให้บริษัทจากประเทศญี่ปุ่นผลิตแบบแม่พิมพ์ให้ใช้งานโดยบริษัทผลิตแบบแม่พิมพ์จะมีแบบแม่พิมพ์ต้นแบบไว้ลอกเลียนอย่างละ 1 ชุด เสมอ ถือเป็นความลับทางการค้าของโจทก์ที่ 1 ที่จะไม่ผลิตให้ผู้อื่นนอกจากโจทก์ที่ 1 ตามเอกสารการชำระเงินและใบรับส่งสินค้า กระเบื้อง "KENZAI" ของโจทก์ที่ 1 ได้รับความสนใจและเป็นที่นิยมและกิจการเติบโตอย่างมาก จนกระทั่งหลังปี 2535 โจทก์ที่ 1 จึงได้เปลี่ยนบริษัทรับทำแบบแม่พิมพ์กระเบื้อง "KENZAI" มาใช้บริษัทในประเทศไทยโดยจ้างบริษัทเค.ที.ที.แมชชีนเนอรี จำกัด เป็นผู้จัดทำแบบแม่พิมพ์กระเบื้อง "KENZAI" และแบบแม่พิมพ์เดิมสูญหายไปจำนวน 3 แบบ โจทก์ที่ 1 จึงได้ร่วมกับบริษัทเค.ที.ที.แมชชีนเนอรี จำกัด ออกแบบใหม่ ต่อมาได้พัฒนาผิวด้านหน้าแบบแม่พิมพ์กระเบื้องปรับปรุงใหม่จนเป็นแบบที่ใช้ในปัจจุบัน หลังจากโจทก์ที่ 1 ได้เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายกระเบื้องภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า "KENZAI" ได้มีบุคคลและคณะบุคคลพยายามจะเลียนแบบการผลิตกระเบื้องให้มีรูปลักษณะคล้ายกระเบื้องของโจทก์ที่ 1 เท่าที่โจทก์ที่ 1 พบได้แก่ บริษัทสมศักดิ์เซรามิค จำกัด จำหน่ายกระเบื้องภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า "Yo Nok" บริษัทเขลางค์คลาสสิคเซรามิค จำกัด จำหน่ายกระเบื้องภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า "K - lang" บริษัทเคอร่าไทล์เซรามิก จำกัด จำหน่ายกระเบื้องภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า "KERA" และบริษัทโรแยลเอเซียบริคแอนด์ไทล์ จำกัด จำหน่ายกระเบื้องภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า "RCI" แต่กระเบื้องที่ผลิตออกจำหน่ายดังกล่าวมีคุณลักษณะเฉพาะโดยผิวไม่เรียบด้านหน้าแตกต่างจากกระเบื้อง "KENZAI" ของโจทก์ที่ 1 และต่อมามีผู้แนะนำจำเลยที่ 1 ให้เข้ามารับจ้างทำแบบแม่พิมพ์กระเบื้อง "KENZAI" ทำให้จำเลยที่ 1 มีแบบแม่พิมพ์กระเบื้องต้นแบบเก็บรักษาไว้เพื่อใช้ลอกเลียนแบบแม่พิมพ์ผลิตกระเบื้อง "KENZAI" ให้โจทก์ที่ 1 บริษัทจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องเก็บรักษาความลับแบบแม่พิมพ์กระเบื้องต้นแบบที่ครอบครองไว้ ห้ามนำไปใช้เป็นต้นแบบผลิตให้แก่บุคคลอื่นตามเอกสารการจ้างและชำระเงิน ในช่วงประมาณปี 2546 ถึงปี 2549 จำเลยที่ 4 เข้าทำงานกับโจทก์ที่ 1 ในตำแหน่งผู้จัดการโรงงานผลิตกระเบื้อง "KENZAI" ทำให้จำเลยที่ 4 ได้ล่วงรู้ความลับในการผลิตกระเบื้อง "KENZAI" ทุกขั้นตอนและเป็นผู้สั่งจ้างให้จำเลยที่ 1 ที่สนิทสนมกันอยู่ก่อนเป็นผู้ผลิตแบบแม่พิมพ์ใช้ผลิตกระเบื้อง "KENZAI" เมื่อจำเลยที่ 4 ได้ล่วงรู้ความลับในการผลิตกระเบื้องและแหล่งวัตถุดิบ แหล่งเก็บแบบแม่พิมพ์ต้นแบบของโจทก์ที่ 1 แล้ว ในวันที่ 1 กันยายน 2548 จำเลยที่ 4 กับภรรยาได้จดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 3 ขึ้นเพื่อผลิตสินค้ากระเบื้องประเภทเดียวกันกับโจทก์ที่ 1 และให้จำเลยที่ 1 ผลิตแบบแม่พิมพ์ลอกเลียนต้นแบบของโจทก์ที่ 1 ซึ่งอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 ทั้งห้าแบบตามเอกสารรูปแบบสินค้ากระเบื้อง "KENZAI" ในหนังสือแคตตาล็อก และได้สั่งซื้อวัตถุดิบได้แก่สีที่ใช้ผลิตเป็นชนิดและประเภทเดียวกับที่โจทก์ที่ 1 ใช้ โดยนำมาผลิตกระเบื้องภายใต้ชื่อ "BEZEN" มีรูปลักษณะ ขนาด คุณลักษณะเฉพาะ โดยเฉพาะผิวความไม่เรียบด้านหน้าและด้านข้างมีลักษณะลอกเลียนแบบกระเบื้อง "KENZAI" ของโจทก์ที่ 1 ส่วนบริษัทจำเลยที่ 2 ซึ่งจัดตั้งขึ้นในวันที่ 2 กันยายน 2548 มีจำเลยที่ 4 เข้าร่วมเป็นฝ่ายการตลาดและกำหนดรูปแบบในการผลิต แล้วจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้นำกระเบื้อง "BEZEN" ที่ลอกเลียนแบบสินค้าของโจทก์ที่ 1 เพียงแต่ลดมวลสารผสมบางอย่างออกเพื่อมิให้เกิดจุดดำที่ผิวด้านหน้าเท่านั้น ซึ่งโจทก์ที่ 1 ก็เคยผลิตมาก่อนเช่นกัน แต่สินค้าทั้งสองชนิดประชาชนหรือลูกค้าทั่วไปไม่สามารถสังเกตเห็นความแตกต่าง และย่อมต้องการลดต้นทุนเพราะจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ได้นำเอาสินค้ากระเบื้อง "BEZEN" ออกวางจำหน่ายแข่งขันและกำหนดราคาส่วนลดตัดราคาของโจทก์ที่ 1 ถึงร้อยละ 46 ของราคาตั้ง ภายหลังโจทก์ที่ 1 ทราบว่ากรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 และกรรมการบริษัทจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 4 มีความสนิทสนมคุ้นเคยกันมาก่อนโดยเฉพาะกรรมการบริษัทจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 4 ทำงานอยู่ที่บริษัทเดียวกันมาก่อน การที่จำเลยที่ 4 เข้าทำงานกับโจทก์ที่ 1 เพื่อหวังล่วงรู้ความลับในการผลิตกระเบื้อง "KENZAI" ของโจทก์ที่ 1 เมื่อรู้ความลับทั้งหมดแล้วจำเลยที่ 4 จึงร่วมกับจำเลยที่ 1 โดยให้จำเลยที่ 1 ผลิตแบบแม่พิมพ์ลอกเลียนแบบแม่พิมพ์ของโจทก์ที่ 1 ถือได้ว่าจำเลยที่ 4 เป็นผู้ลอกเลียนและเปิดเผยความลับแบบแม่พิมพ์ให้แก่จำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 4 นำความลับในการผลิตของโจทก์ที่ 1 ไปตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 3 ให้จำเลยที่ 3 ผลิตกระเบื้องลอกเลียนแบบและควบคุมการผลิต และร่วมกับจำเลยที่ 2 จำหน่ายกระเบื้องลอกเลียนแบบกระเบื้องของโจทก์ที่ 1 ภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า "BEZEN" แข่งกับสินค้าของโจทก์ที่ 1 ทำให้โจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหายเป็นเงินไม่ต่ำกว่าจำนวน 50,000,000 บาท โจทก์ที่ 1 จึงเรียกร้องให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินค่าเสียหายจำนวน 50,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 ห้ามจำเลยทั้งสี่ผลิตกระเบื้องที่ลอกเลียนสินค้าของโจทก์ที่ 1 ให้จำเลยที่ 1 ส่งคืนแบบแม่พิมพ์ต้นฉบับและแบบแม่พิมพ์ลอกเลียนที่มีอยู่กับจำเลยที่ 1 คืนโจทก์ที่ 1 กับให้ชำระค่าเสียหายเป็นรายเดือน เดือนละไม่ต่ำกว่าจำนวน 5,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสี่จะเลิกผลิตกระเบื้องลอกเลียนกระเบื้องของโจทก์ที่ 1 สำหรับจำเลยที่ 1 นำสืบโดยมีนายปัญญา ผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 มาเบิกความเป็นพยานได้ความว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการรับทำ ซ่อม และสร้างแบบแม่พิมพ์กระเบื้องเซรามิก โดยมอบอำนาจให้นายปัญญาดำเนินคดีแทน โจทก์ที่ 1 เป็นลูกค้าของจำเลยที่ 1 โดยเมื่อปี 2544 โจทก์ที่ 1 ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ทำแบบแม่พิมพ์กระเบื้องเซรามิก โดยเอาตัวอย่างชิ้นงานคือกระเบื้องตัวอย่างมาให้จำเลยที่ 1 แกะแบบแม่พิมพ์กระเบื้องให้เหมือนกับตัวอย่างกระเบื้องที่โจทก์ที่ 1 นำมา โดยโจทก์ที่ 1 ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ผลิตแบบแม่พิมพ์กระเบื้องเป็นจำนวนมากกว่า 10 แบบ ขึ้นไป ส่วนใหญ่โจทก์ที่ 1 จะนำตัวอย่างกระเบื้องที่มีการวางจำหน่ายทั่วไปในท้องตลาดหรือเป็นกระเบื้องที่ผลิตในต่างประเทศมาให้เป็นตัวอย่าง และว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ทำแบบแม่พิมพ์เป็นครั้งคราวไป โจทก์ที่ 1 ไม่เคยบอกจำเลยที่ 1 ว่าโจทก์ที่ 1 มีลิขสิทธิ์ในงานกระเบื้องที่โจทก์ที่ 1 ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ทำแบบแม่พิมพ์ ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็เป็นลูกค้าของจำเลยที่ 1 เช่นกัน โดยเมื่อประมาณต้นปี 2549 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้จัดทำแบบแม่พิมพ์กระเบื้องโดยนำตัวอย่างชิ้นงานกระเบื้องและแบบแม่พิมพ์กระเบื้องหรือแบบดรอว์อิง (DRAWING) ที่มีขนาดกระเบื้องมาให้ด้วย โดยว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้จัดทำแบบแม่พิมพ์กระเบื้องประมาณ 6 แบบ เมื่อจำเลยที่ 1 ทำแบบแม่พิมพ์กระเบื้องเสร็จแล้ว ก็คืนแบบแม่พิมพ์พร้อมตัวอย่างชิ้นงานให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไป ลักษณะแบบกระเบื้องที่โจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ทำแบบแม่พิมพ์เป็นแบบกระเบื้องที่พยานเคยเห็นวางจำหน่ายในท้องตลาด มีกระเบื้อง "K - Lang" และ "Yo Nok" โดยกระเบื้องดังกล่าวได้เคยว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้เป็นผู้จัดทำแบบแม่พิมพ์เช่นกัน ในการว่าจ้างทำแบบแม่พิมพ์กระเบื้องระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 2 และที่ 3 รวมทั้งลูกค้ารายอื่น ไม่ได้ทำสัญญาว่าจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรแต่จะทำในรูปแบบของใบสั่งซื้อ จำเลยที่ 1 ไม่เคยเข้าไปเกี่ยวข้องในกิจการของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่โจทก์ที่ 1 กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 นำแบบแม่พิมพ์กระเบื้องของโจทก์ที่ 1 ไปให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 นั้นไม่เป็นความจริง ส่วนจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 นำสืบโดยมีนายชัยอัครญาณ กรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยที่ 2 มาเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็น นายวันชัย หุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 3 มาเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริง หรือความเห็น นายองอาจ พนักงานห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 3 มาเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็น และจำเลยที่ 4 อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นได้ความว่า จำเลยที่ 3 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด ประกอบกิจการผลิตกระเบื้องเซรามิกออกจำหน่ายแก่บุคคลทั่วไป ตามหนังสือรับรอง กระเบื้องตามคำฟ้องเป็นกระเบื้องส่วนหนึ่งที่จำเลยที่ 3 ผลิตออกจำหน่ายและได้รับความนิยม จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ไม่ได้ละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ที่ 1 เนื่องจากกระเบื้องเซรามิกดังกล่าวจำเลยที่ 3 ได้ซื้อลิขสิทธิ์ในแบบกระเบื้องมาจากบริษัทสมศักดิ์เซรามิค จำกัด ตามสัญญา หลังจากนั้นได้ไปว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ทำแบบแม่พิมพ์ผลิตกระเบื้องขายภายใต้ชื่อทางการค้าคำว่า "BEZEN" โจทก์ที่ 1 ไม่ได้ซื้อหรือมีลิขสิทธิ์ใด ๆ ในแบบกระเบื้องเซรามิกนั้นและกระเบื้องดังกล่าวมีการใช้แพร่หลายในประเทศญี่ปุ่นก่อนที่โจทก์ที่ 1 จะเปิดกิจการ ผิวหน้าของกระเบื้องมีลักษณะเลียนแบบธรรมชาติ แบบหรือรูปทรงของกระเบื้องก็เป็นแบบเรขาคณิต โจทก์ที่ 1 หรือบุคคลอื่นจึงไม่มีลิขสิทธิ์ จำเลยที่ 2 เป็นเพียงบริษัทที่ซื้อสินค้าจากจำเลยที่ 3 มาจำหน่าย จำเลยที่ 2 ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการสั่งทำแบบแม่พิมพ์กับจำเลยที่ 1 หรือเกี่ยวข้องกับการผลิตกระเบื้อง นอกจากโจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 3 จะเป็นผู้ผลิตกระเบื้องในลักษณะเดียวกันแล้วยังมีบุคคลอื่นผลิตกระเบื้องในลักษณะคล้ายกับโจทก์ที่ 1 อีกหลายราย เช่น กระเบื้อง "K - lang" กระเบื้อง "Yo Nok" จำเลยที่ 4 ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการผลิตกระเบื้องของโจทก์ที่ 1 โดยหลังจากที่จำเลยที่ 4 ลาออกจากการเป็นพนักงานบริษัทโจทก์ที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 4 ได้เข้าไปทำงานในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายบริหารห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 3 มีหน้าที่ติดต่อลูกค้าและหาลูกค้าของจำเลยที่ 3 โจทก์ไม่มีหลักฐานการซื้อขายลิขสิทธิ์จากเจ้าของลิขสิทธิ์ในประเทศญี่ปุ่น โดยในคำฟ้องอ้างว่าซื้อลิขสิทธิ์แต่ทางนำสืบกลับอ้างว่าโจทก์ที่ 1 คิดค้นแบบกระเบื้องขึ้นเองและว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ผลิตแบบแม่พิมพ์กระเบื้องจึงเป็นการนำสืบแตกต่างจากคำฟ้อง โจทก์ที่ 1 จึงไม่ใช่ผู้เสียหายและไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาว่าแบบแม่พิมพ์กระเบื้องเป็นงานศิลปกรรมประเภทประติมากรรมและงานสถาปัตยกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ที่ 1 หรือไม่ ปรากฏตามทางนำสืบของโจทก์ที่ 1 ว่า บริษัทโจทก์ที่ 1 โดยนางสาวนลินีกรรมการบริษัทได้ว่าจ้างบริษัทคาตายามาคอร์ปอเรชัน จำกัด และทีมงานในประเทศญี่ปุ่นให้ออกแบบแม่พิมพ์กระเบื้องเพื่อผลิตกระเบื้องให้มีรูปร่าง ขนาด และรูปลักษณะที่แปลกใหม่แตกต่างจากกระเบื้องที่ผลิตออกจำหน่ายในประเทศไทย โจทก์ที่ 1 ชำระค่าจ้างแก่บริษัทดังกล่าวอันเป็นการซื้อสิทธิในการจะใช้เป็นแบบของโจทก์ที่ 1 มาประกอบการผลิตกระเบื้องออกจำหน่ายในประเทศไทย เห็นว่า การออกแบบแม่พิมพ์กระเบื้องดังกล่าวเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์กระเบื้องให้มีรูปร่างของผลิตภัณฑ์อันมีลักษณะพิเศษสำหรับผลิตภัณฑ์ซึ่งสามารถใช้เป็นแบบสำหรับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมได้ เข้าลักษณะเป็นแบบผลิตภัณฑ์ตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 ไม่ใช่งานสร้างสรรค์รูปทรงที่เกี่ยวกับปริมาตรที่สัมผัสและจับต้องได้ และไม่ใช่งานออกแบบอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างหรืองานออกแบบตกแต่งภายในหรือภายนอกตลอดจนบริเวณของอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างหรือการสร้างสรรค์หุ่นจำลองของอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างอันจะถือได้ว่าเป็นงานศิลปกรรมประเภทประติมากรรมและงานสถาปัตยกรรมที่จะมีลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 และมาตรา 6 วรรคหนึ่ง การออกแบบผลิตภัณฑ์กระเบื้องของโจทก์ที่ 1 ดังกล่าวจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 ได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์สำหรับแบบผลิตภัณฑ์กระเบื้องดังกล่าวโดยอ้างว่าเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่ออุตสาหกรรมในประเทศไทยตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 59 ประกอบมาตรา 56 และได้รับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์กระเบื้องดังกล่าว การออกแบบผลิตภัณฑ์กระเบื้องของโจทก์ที่ 1 จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522

ส่วนที่โจทก์ที่ 1 อ้างในคำฟ้องว่าในปี 2544 โจทก์ที่ 1 ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ผลิตชุดสำรองลอกเลียนต้นแบบแม่พิมพ์กระเบื้องซึ่งจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ผลิตเครื่องมือหรืออุปกรณ์ลอกเลียนแบบแม่พิมพ์กระเบื้องให้แก่โจทก์ทั้งสองแต่เพียงผู้เดียว หากจำเลยที่ 1 ลอกเลียนใช้ประโยชน์เองหรือนำชุดเครื่องมือพร้อมอุปกรณ์ผลิตกระเบื้องชนิดพิเศษและมีคุณสมบัติเฉพาะไปให้บุคคลอื่นใช้ประโยชน์ จะถือว่าเป็นการละเมิดและผิดข้อตกลงในการจ้างต่อโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 1 มีจำเลยที่ 4 เป็นลูกจ้างในตำแหน่งผู้จัดการควบคุมการผลิต ทำให้จำเลยที่ 4 ล่วงรู้ความลับของวัสดุที่ใช้ในการผลิตและสูตรส่วนอัตราที่ผสม และวิธีการขั้นตอนการผลิตอันเป็นความลับเฉพาะของโจทก์ที่ 1 เครื่องมือที่ใช้ในการผลิตกระเบื้องจำเลยที่ 1 เป็นผู้เก็บรักษา จำเลยที่ 1 จึงรู้ความลับในวัสดุที่ใช้ในการผลิต สูตรและขั้นตอนในการผลิต เมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2549 โจทก์ที่ 1 พบว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ผลิตและจำหน่ายกระเบื้องซึ่งมีคุณลักษณะเช่นเดียวกับกระเบื้องของโจทก์ที่ 1 โดยขายในราคาที่ต่ำกว่าราคากระเบื้องของโจทก์ที่ 1 และพบว่าเหตุที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 สามารถผลิตสินค้ากระเบื้องดังกล่าวได้เพราะจำเลยที่ 1 ลอกเลียนแบบแม่พิมพ์กระเบื้องของโจทก์ที่ 1 ให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยมีจำเลยที่ 4 ทำหน้าที่ควบคุมดำเนินการผลิตกระเบื้องดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 จนทำให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีสินค้าลอกเลียนแบบสินค้าของโจทก์ที่ 1 วางจำหน่ายในราคาที่ต่ำกว่าราคาของโจทก์ที่ 1 การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นการร่วมกันละเมิดสิทธิของโจทก์ที่ 1 ทำให้โจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหาย เป็นทำนองว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดสัญญาว่าจ้างต่อโจทก์ที่ 1 และจำเลยทั้งสี่ร่วมกันกระทำละเมิดสิทธิต่อความลับทางการค้าของโจทก์ที่ 1 นั้น ในปัญหานี้ปรากฏว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางชี้สองสถานโดยกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้เพียงว่า โจทก์ทั้งสองมีลิขสิทธิ์ตามคำฟ้องหรือไม่ จำเลยทั้งสี่ละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสองหรือไม่ และค่าเสียหายมีเพียงใดเท่านั้น มิได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาว่าจ้างผลิตแบบแม่พิมพ์กระเบื้องต่อโจทก์ทั้งสองหรือไม่ และจำเลยทั้งสี่ร่วมกันละเมิดความลับทางการค้าสำหรับสูตร วิธีการ และขั้นตอนการผลิตกระเบื้องของโจทก์ทั้งสองหรือไม่ และโจทก์ทั้งสองก็มิได้โต้แย้งคำสั่งของศาลในการกำหนดประเด็นข้อพิพาทดังกล่าว คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทให้ต้องวินิจฉัยตามประเด็นข้อพิพาทที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมิได้กำหนดดังกล่าว เมื่อแบบแม่พิมพ์กระเบื้องของโจทก์ที่ 1 ไม่ใช่งานศิลปกรรมประเภทประติมากรรมและงานสถาปัตยกรรมอันมีลิขสิทธิ์ที่จะได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ดังที่โจทก์ที่ 1 อ้างตามคำฟ้อง โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีลิขสิทธิ์ในแบบแม่พิมพ์กระเบื้องดังกล่าว การกระทำของจำเลยทั้งสีย่อมไม่อาจเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในแบบแม่พิมพ์กระเบื้องดังกล่าวได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า การที่โจทก์ที่ 1 โดยนางสาวนลินีได้ว่าจ้างบริษัทคาตายามาคอร์ปอเรชัน จำกัด และทีมงานในประเทศญี่ปุ่นให้ออกแบบแม่พิมพ์เพื่อผลิตกระเบื้องมีกระบวนการทำงานหลายขั้นตอนกว่าจะได้ชิ้นงานเป็นแบบแม่พิมพ์ เป็นงานที่ได้ทำขึ้นโดยใช้ความอุตสาหะวิริยะในการสร้างสรรค์ ถือเป็นงานสร้างสรรค์แบบแม่พิมพ์ซึ่งเขียนด้วยลายเส้นประกอบเป็นรูปทรงอันเข้าลักษณะศิลปกรรม และการสร้างแบบแม่พิมพ์ซึ่งเป็นงานสร้างสรรค์รูปทรงที่เกี่ยวกับปริมาตรที่สัมผัสและจับต้องได้ซึ่งเข้าลักษณะศิลปกรรมประเภทงานประติมากรรมนำมาประกอบเข้าด้วยกันและสร้างขึ้นเป็นกระเบื้องเพื่อนำไปใช้ตกแต่งอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างทั้งภายในภายนอกและบริเวณของอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง งานสร้างสรรค์แบบแม่พิมพ์กระเบื้องดังกล่าวจึงเป็นงานสถาปัตยกรรมอันได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 นั้นศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ข้อนี้ฟังขึ้น ไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยทั้งสี่อีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องของโจทก์ที่ 1 ด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง


Visitors: 149,785