ความคาบเกี่ยวระหว่างกฎหมายลิขสิทธิ์ กับ เครื่องหมายการค้า และ ลิขสิทธิ์ กับ สิทธิบัตร

กฎหมายลิขสิทธิ์ เครื่องหมายการค้า และสิทธิบัตร เมื่อเจ้าของสิทธิต้องการคุ้มครองงานในประเภทใดแล้วก็ควรตัดสิทธิการคุ้มครองในงานอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาที่ต้องการแยกการคุ้มครองออกจากกันอย่างชัดเจน แต่เจ้าของสิทธิพยายามที่จะขยายความคุ้มครองออกไปเพื่อไม่ให้งานนั้นสิ้นสิทธิ และ ยังได้สิทธิใหม่ตามที่ขอคุ้มครอง จนเกิดปัญหาความคาบเกี่ยว แต่ปัจจุบันศาลฎีกาได้ยืนยันตามเจตนารมณ์ของกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อต้องการคุ้มครองงานในประเภทใดแล้วก็ควรตัดสิทธิการคุ้มครองในงานอีกประเภทหนึ่ง เช่น ความเกี่ยวระหว่างเครื่องหมายการค้า กับ ลิขสิทธิ์ ฎีกามะขามเปียก คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๕๐๘๒/๒๕๕๖ โจทก์ทำภาพแผนที่ประเทศไทยโดยประสงค์เพียงให้เป็นเครื่องหมายการค้าสำหรับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ทั้งการมีภาพมะขามเพื่อให้สอดคล้องกับสินค้ามะขามเปียกของโจทก์เป็นสำคัญ ไม่มีลักษณะอันแสดงให้เห็นว่าโจทก์ก็ได้ใช้ความวิริยะอุตสาหะทำภาพต่าง ๆ ดังกล่าวในลักษณะเป็นการสร้างสรรค์ให้เป็นงานศิลปกรรมประเภทจิตรกรรมหรือนำมาใช้เป็นงานศิลปประยุกต์ จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นงานสร้างสรรค์อันมีลิขสิทธิ์ และฎีกาปากกา BIG คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๒๗๐/๒๕๕๔ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๓๗ และ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.๒๕๓๔ มีความมุ่งหมายให้ความคุ้มครองแก่เจ้าของลิขสิทธิ์และเจ้าของเครื่องหมายการค้าแยกต่างห่างจากกันโดยชัดเจน โดยเฉพาะกรณีลิขสิทธิ์นั้น งานอันจะมีลิขสิทธิ์ได้ต้องเกิดจากการที่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์งานประเภทใดประเภทหนึ่งที่กฎหมายให้ความคุ้มครองเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามบทบัญญัติของมาตรา ๘ ประกอบมาตรา ๖ และคำนิยาม "ผู้สร้างสรรค์" ตามมาตรา ๔ อันหมายถึงผู้สร้างสรรค์จะต้องใช้ความคิดและการกระทำให้เกิดงานขึ้นโดยมุ่งหมายให้เกิดผลงานอันมีลักษณะเป็นงานสร้างสรรค์ที่จัดได้ว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ ซึ่งตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏได้ความว่าโจทก์ใช้รูปเด็กศีรษะโตอย่างเครื่องหมายการค้า โดยเดิมโจทก์ผลิตสินค้าปากกาลูกลื่นออกจำหน่ายและต่อมาได้ว่าจ้าง ร. ออกแบบภาพประดิษฐ์รูปเด็กศีรษะโตเพื่อใช้กับสินค้าปากกาลูกลื่นและผลิตภัณฑ์แบบต่างๆ ของโจทก์ออกจำหน่ายจนเป็นที่รู้จักแพร่หลาย ส่อแสดงว่าโจทก์ประสงค์จะให้ ร. ออกแบบภาพประดิษฐ์นี้เพื่อใช้เป็นเครื่องหมายการค้า โดยภาพที่เป็นรูปเด็กดังกล่าวก็มีลักษณะเป็นรูปทรงกลมทำนองเดียวกับหัวปากกาลูกลื่น ทั้งมีรูปปากกาลูกลื่นปรากฏประกอบกับรูปเด็กด้วย จึงเป็นข้อเท็จจริงที่แสดงว่าผู้ออกแบบได้ออกแบบรูปนี้ตามวัตถุประสงค์ของโจทก์ให้เป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ จึงไม่ใช่การสร้างสรรค์เพื่อให้เกิดงานสร้างประเภทศิลปกรรมอันมีลิขสิทธิ์แต่อย่างใด ย่อมถือไม่ได้ว่าโจทก์มีลิขสิทธิ์ในภาพประดิษฐ์รูปเด็กศีรษะโต อันจะได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๓๗ ส่วนความคาบเกี่ยว ลิขสิทธิ์ กับ สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ ฎีกาเคนไซ KENZAI คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๐๗๓/๒๕๕๗ การออกแบบแม่พิมพ์กระเบื้องเพื่อผลิตกระเบื้องให้มีรูปร่าง ขนาด และรูปลักษณะที่แปลกใหม่แตกต่างจากกระเบื้องที่ผลิตออกจำหน่ายในประเทศไทยเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์กระเบื้องให้มีรูปร่างของผลิตภัณฑ์อันมีลักษณะพิเศษสำหรับผลิตภัณฑ์ซึ่งสามารถใช้เป็นแบบสำหรับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมได้ เข้าลักษณะเป็นแบบผลิตภัณฑ์ตามมาตรา ๓ แห่ง พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.๒๕๒๒ ไม่ใช่งานสร้างสรรค์รูปทรงที่เกี่ยวกับปริมาตรที่สัมผัสและจับต้องได้ และไม่ใช่งานออกแบบอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างหรืองานออกแบบตกแต่งภายในหรือภายนอกตลอดจนบริเวณของอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างหรือการสร้างสรรค์หุ่นจำลองของอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างอันจะถือได้ว่าเป็นงานศิลปกรรมประเภทประติมากรรมและงานสถาปัตยกรรมที่จะมีลิขสิทธิ์ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๓๗ มาตรา ๔ และมาตรา ๖ วรรคหนึ่ง การออกแบบผลิตภัณฑ์กระเบื้องของโจทก์ที่ ๑ ดังกล่าวจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๓๗ เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ ๑ ได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์สำหรับแบบผลิตภัณฑ์กระเบื้องดังกล่าวโดยอ้างว่าเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่ออุตสาหกรรมในประเทศไทยตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๕๙ ประกอบมาตรา ๕๖ และได้รับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์กระเบื้องดังกล่าว การออกแบบผลิตภัณฑ์กระเบื้องของโจทก์ที่ ๑ จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.๒๕๒๒

Visitors: 157,685