เมียคนไทยมีชื่อและครอบครองที่ดินไว้แทนฝรั่งต่างชาติ แล้วฮุบเอาที่ดินเป็นของตนเองหรือเอาไปขาย ถ้าฝรั่งต่างชาติโวยวายเอาคืน เมียคนไทยระวังจะโดนข้อหายักยอกทรัพย์ได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12250/2557) แต่ถ้าให้ใส่ชื่อไว้อย่างเดียว ไม่ได้ให้ครอบครองด้วย เอาไปขาย

เมียคนไทยมีชื่อและครอบครองที่ดินไว้แทนฝรั่งต่างชาติ แล้วฮุบเอาที่ดินเป็นของตนเองหรือเอาไปขาย ถ้าฝรั่งต่างชาติโวยวายเอาคืน เมียคนไทยระวังจะโดนข้อหายักยอกทรัพย์ได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12250/2557) แต่ถ้าให้ใส่ชื่อไว้อย่างเดียว ไม่ได้ให้ครอบครองด้วย เอาไปขาย ผิดลักทรัพย์นะครับ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4096/2557)    

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12250/2557

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350, 352 ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน 3,000,000 บาท แก่ผู้เสียหาย

จำเลยให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณานายแอนโทนี่ ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350, 352 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 เดือน ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน 3,000,000 บาท แก่โจทก์ร่วม

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 เพียงบทเดียว ส่วนโทษให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ข้อหาโกงเจ้าหนี้ให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์และจำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 หรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยจดทะเบียนขายฝากทรัพย์พิพาทอันเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยไว้แก่พันตำรวจเอกมนตรีภายหลังที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีดังกล่าวแล้วนั้น จึงมิใช่การทำสัญญาในลักษณะปกติ แม้คดียังมีข้อโต้เถียงกรรมสิทธิ์และอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่นก็ตาม ถือว่าโจทก์ (โจทก์ร่วมในคดีนี้) อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ที่มีอำนาจจะฟ้องจำเลยแล้ว จึงเข้าองค์ประกอบของความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ยกฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วมฐานโกงเจ้าหนี้นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานยักยอกหรือไม่ เมื่อคดีฟังเป็นยุติว่าทรัพย์พิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลย โจทก์ร่วมกับจำเลยจึงเป็นเจ้าของรวมในทรัพย์พิพาท การที่จำเลยนำทรัพย์พิพาทไปจดทะเบียนขายฝากไว้แก่พันตำรวจเอกมนตรี โดยโจทก์ร่วมไม่ทราบและไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ร่วมก่อน และไม่ไถ่คืนภายในกำหนดเช่นนี้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์พิพาทไปเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต เป็นความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก อีกบทหนึ่งด้วย การกระทำความผิดของจำเลยดังกล่าวแล้วมานี้ เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ใช้บทลงโทษตามมาตรา 352 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษจำเลย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350, 352 วรรคแรก ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4096/2557

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 4,000,000 บาท แก่ผู้เสียหาย

จำเลยให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณา นางมาร์ลินเด ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์ร่วมอุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ให้ปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก จำคุก 1 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 3,500,000 บาท แก่โจทก์ร่วม

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 หรือไม่ จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิดฐานยักยอก เนื่องจากหลังจากนายเฮนดริกซื้อห้องชุดแล้ว ประมาณเดือนเมษายน 2536 นายเฮนดริกเห็นว่าห้องชุดที่ซื้อมามีขนาดเล็กไป ต้องการจะซื้อห้องชุดใหม่ นายเฮนดริกเสนอขายห้องชุดให้แก่จำเลยในราคา 1,800,000 บาท จำเลยชำระเงินมัดจำ 300,000 บาท นายเฮนดริกมอบสัญญา สำเนาหนังสือเดินทาง กับกุญแจห้องชุดให้แก่จำเลย เดือนตุลาคม 2537 นายเฮนดริกเดินทางมาประเทศไทยจำเลยมอบเงินส่วนที่เหลือให้แก่นายเฮนดริกแล้ว กรรมสิทธิ์ห้องชุดเป็นของจำเลยนั้น เห็นว่า เมื่อนายเฮนดริกมอบ หมายให้จำเลยมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดแทนนายเฮนดริกมีการทำบันทึกข้อตกลงระหว่าง นายเฮนดริกกับจำเลย เป็นหนังสือทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทยไว้เป็นหลักฐาน โดยนายสุวิทย์ ทนายความผู้ทำบันทึกข้อตกลงมาเบิกความรับรองว่า เมื่อทำบันทึกข้อตกลงแล้ว มอบเอกสารเกี่ยวกับอาคารชุดทั้งหมด เช่น สัญญาโฉนดที่ดินให้นายเฮนดริกเป็นผู้เก็บรักษา นายสุวิทย์รู้จักจำเลย ไม่เคยรู้จักนายเฮนดริกมาก่อน นายสุวิทย์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า จำเลยเป็นผู้พานายเฮนดริกมาทำสัญญา ดังนั้น ในการทำบันทึกซึ่งจำเลยเป็นผู้มีส่วนได้ประโยชน์ นายเฮนดริกให้จำเลยทำบันทึกเป็นหลักฐาน แต่เมื่อจำเลยซื้อห้องชุดจากนายเฮนดริกกลับไม่มีหลักฐาน มีเฉพาะพยานบุคคลส่วนที่เป็นพยานเอกสาร คือ สำเนาหนังสือเดินทาง รายการบัญชีเงินฝากของจำเลยและเช็คไม่มีข้อความชี้ชัดหรือสามารถสื่อแสดงว่าเป็นเอกสารที่เกี่ยวกับการซื้อขายห้องชุดระหว่างนายเฮนดริกกับจำเลยได้ นอกจากนี้ เมื่อนายเฮนดริกและโจทก์ร่วมเดินทางมาประเทศไทยเข้าพักที่ห้องชุดตลอดมา ไม่ได้ตั้งข้อรังเกียจว่าเล็กหรือต้องการไปหาซื้อห้องชุดแห่งใหม่ตามข้ออ้างของจำเลย แม้จำเลยอ้างว่าเป็นการเข้าพักโดยต้องขออนุญาตจากจำเลยเป็นเรื่องที่ยกขึ้นต่อสู้ได้โดยง่าย ข้อเท็จจริงได้ความว่าหลังจากนายเฮนดริกถึงแก่ความตายแล้ว จำเลยขอออกหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ห้องชุดใหม่อ้างว่า หนังสือชุดฉบับเดิมสูญหายยิ่งทำให้ข้อนำสืบของจำเลยไม่น่าเชื่อถือ พยานหลักฐานของจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมได้ ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่านายเฮนดริกขายห้องชุดให้แก่จำเลย ส่วนปัญหาว่า การที่จำเลยไปแจ้งขอออกหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ห้องชุดใหม่แทนฉบับเดิมและนำไปขายแก่บุคคลอื่นและเอาเงินที่ขายได้เป็นของจำเลยเองนั้น เป็นการกระทำความผิดฐานใด ได้ความว่า นายเฮนดริกเพียงแต่ให้จำเลยมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ห้องชุดไว้แทน เนื่องจากนายเฮนดริกเป็นบุคคลต่างด้าวไม่อาจมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินในประเทศไทยได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาต อันมิใช่เป็นข้อห้ามโดยเด็ดขาดและยังได้ความจากนางสาวโสมอุสา พยานโจทก์และจำเลยเบิกความว่า นายเฮนดริกมาพักที่ห้องชุดพิพาทบ่อยครั้ง ครั้งละนาน ๆ เป็นเดือน เมื่อกลับจะฝากกุญแจไว้ที่ประชาสัมพันธ์ นอกจากนี้โจทก์ร่วมก็เดินทางมาพักที่ห้องชุดด้วย แต่มาพักไม่พร้อมกัน นายปีเตอร์ ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ร่วมเบิกความว่า สาเหตุที่โจทก์ร่วมทราบว่า จำเลยนำห้องชุดไปขายเพราะเพื่อนของโจทก์ร่วมต้องย้ายจากจังหวัดภูเก็ตมาพักที่พัทยา โจทก์ร่วมให้เพื่อนมาพักที่ห้องชุด แต่ไม่สามารถไขกุญแจประตูได้ อันแสดงให้เห็นถึงความเป็นเจ้าของมีสิทธิครอบครองห้องชุดของนายเฮนดริกและโจทก์ร่วม ส่วนจำเลยไม่เคยเข้าพัก แม้อาจเคยให้ญาติหรือบุคคลอื่นมาพักบ้าง ก็เป็นการถือวิสาสะ ไม่ส่งผลให้จำเลยมีสิทธิครอบครองห้องชุดพิพาท เอกสารสิทธิเกี่ยวกับห้องชุดน่าเชื่อว่านายเฮนดริกเป็นผู้เก็บรักษาไว้ตามบันทึกข้อตกลงที่ทำขึ้น แม้ได้ความว่า จำเลยเป็นผู้ถือกุญแจหรือเป็นผู้ชำระค่าน้ำ ค่าไฟ ก็เป็นการกระทำการแทนนายเฮนดริกชั่วครั้งชั่วคราวตามที่ได้รับมอบหมาย กรรมสิทธิ์ที่แท้จริงยังอยู่ที่นายเฮนดริกและโจทก์ร่วม การที่จำเลยแจ้งเท็จเพื่อทำหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ห้องชุดใหม่แทนฉบับเดิม เปลี่ยนกุญแจและเข้าครอบครองห้องชุดและทรัพย์ต่าง ๆ ในห้องชุดแล้วนำไปขายแก่บุคคลอื่นโดยนายเฮนดริกและโจทก์ร่วมไม่รู้เห็นยินยอม เป็นการแย่งกรรมสิทธิ์ห้องชุดของนายเฮนดริกและโจทก์ร่วมโดยใช้อุบายและแย่งการครอบครองห้องชุด ต่อมาเมื่อจำเลยนำห้องชุดของโจทก์ร่วมไปขายเงินที่ได้จากการขายห้องชุดเป็นผลสืบเนื่องจากการแย่งกรรมสิทธิ์และการครอบครองของจำเลยเพราะนายเฮนดริกหรือโจทก์ร่วมไม่ได้ส่งมอบการครอบครองให้แก่จำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ แม้โจทก์ฟ้องจำเลยขอให้ลงโทษในความผิดฐานยักยอกเงินที่ได้จากการขายห้องชุด แต่ทางพิจารณาได้ความว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ เป็นกรณีที่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง แต่เป็นข้อแตกต่างในรายละเอียด มิใช่แตกต่างกันในข้อสาระสำคัญ เมื่อจำเลยมิได้หลงต่อสู้ศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสองและวรรคสาม และแม้โจทก์และโจทก์ร่วมไม่ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจปรับบทลงโทษจำเลยให้ถูกต้องได้ แต่ไม่เพิ่มเติมโทษจำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225

สำหรับปัญหาที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ร่วมมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย ไม่มีอำนาจร้องทุกข์และเข้าเป็นโจทก์ร่วม การที่นายเฮนดริกให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์ห้องชุดแทนเป็นการหลีกเลี่ยงกฎหมายที่ไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวมีกรรมสิทธิ์ที่ดินในประเทศไทยเป็นสัญญาที่ขัดกฎหมาย เป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง และคดีโจทก์ขาดอายุความเพราะมิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 นั้น เห็นว่า เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานลักทรัพย์มิใช่ความผิดอันยอมความได้ ฎีกาของจำเลยข้อดังกล่าวไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

 

 

 

Visitors: 123,941