แย่งการครอบครองที่ดิน

โดย: นักศึกษา [IP: 184.22.187.xxx]
เมื่อ: 2022-08-19 11:23:09
ขออนุญาติปรึกษากฎหมายที่ดินครับ.....กรณี นส.3 เข้าแย่งการครอบครอง นส.3ก. ....ผ่านมามากกว่าสิบปี โดยให้ผู้อื่นกระทำการแทนและมีการใช้เครืองจักรเข้าบุกรุกแย่งการครอบครอง ส่วนผู้อ้างเป็นผู้ครอบครองไม่อยู่ในพื้นที่และเป็นข้าราชการ....ส่วนฝ่าย นส.3ก. เป็นชาวบ้านธรรมดา ไม่รู้หนังสือจึงไม่กล้าคัดค้านแจ้งความ...ผ่านไปหลายปี ฝ่าย นส.3 ต้องยื้นขอออกโฉนดที่ดิน ฝ่าย นส.3ก. ซึ่งเปลี่ยนการครอบครองมาเป็นบุตรและทำการคัดค้านการออกโฉนด และสืบทราบภายหลังว่า การได้มาซึ่ง นส.3 ของผู้แย่งการครอบครองคลุมเครือหรืออาจได้มาโดยมิชอบ ประเด็นคำถามว่า.....หากพิสูตรได้ว่านส.3 ของผู้แย่งการครอบครองคลุมเครือหรืออาจได้มาโดยมิชอบจริง การเข้าแย่งการครอบครองดังกล่าวเป็นการกระทำโดยสงบเปิดเผยหรือไม่
#1 โดย: มโนธรรม [IP: 223.205.250.xxx]
เมื่อ: 2022-08-21 09:40:33
การครอบครองที่ดิน
ดูจากข้อเท็จจริงแล้ว คงที่ดินสองแปลง....คือแปลงที่หนึ่ง มีเอกสารเป็น นส.3 ก. ที่บอกว่าถูกแย่งการครอบครอง แปลงที่สอง เป็นแปลงของผู้แย่งการครอบครอง... การถูกการแย่งการครอบครอง ก็เป็นไปตาม ปพพ. ม.1375 คือเจ้าของ นส.3 ก. ต้องโต้แย้งหรือฟ้องขับไล่ภายในอายุความ 1 ปี ถ้าเพิกเฉยคงหมดอำนาจฟ้อง ที่ดินจะตกเป็นของผู้แย่งการครอบครอง โดยง่ายดาย... การแย่งการครอบครอง ผู้แย่งการครอบครอง ต้องเข้าทำประโยชน์ในที่ดินอยู่จริง สิทธิการครอบครองจึงจะเกิดขึ้น....ส่วนที่ดินที่มีเอกสารเป็น นส.3 จะได้มาโดยชอบหรือไม่ เราไม่ต้องไปพิสูจน์ในต้องเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ เราเพียงแสดงการครอบครองที่ดิน (นส.3 ก.) ให้ชัดเจนเท่านั้นก็เพียงพอ ดังนั้นเขาจะแย่งที่ดินไปได้หรือไม่ ก็อยู่ที่เจ้าของ นส.3 ก. ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินจริงหรือไม่ แต่ตามข้อเท็จจริงที่บอก ที่ดินถูกแย่งการครอบครองมาหลายปี แม้จะให้ผู้อื่นทำการแทน ก็ถือว่าการแย่งการครอบครองเกิดขึ้นแล้ว การเป็นชาวบ้าน หรือไม่รู้หนังสือ น่าจะไม่มีน้ำหนักเพียงพอว่า ไม่สามารถป้องกันที่ดินของตนได้ การแสดงการครอบครองก็เพียงทำรั้วโดยปักเสาคอนกรีต เป็นระยะๆ ห่างๆ ไม่ต้องมีลวดหนามก็ได้ เพราะต้องลงทุนสูง เมื่อมีการบุกรุกเข้ามา ก็จะพบเห็นได้ชัดเจน แต่พบเห็นแล้วเพิกเฉยน่าจะอยู่ในฐานะเสียเปรียบ.... แต่อย่างไรก็ตามอาจจะมีช่องทางของกฎหมายที่ ชี้ว่า ผู้แย่งการครอบครองอาจจะไม่ได้สิทธิครอบครองก็ได้ ขอแนะนำให้ ใช้วิธีไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง โดยไปที่ศาล แจ้งเจ้าหน้าที่ศาล ขอให้มีการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง ในการไกล่เกลี่ยฯ อาจจะมีทางออกที่เหมาะสมแก่ทั้งสองฝ่าย การไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง ไม่มีค่าใช้จ่าย มีกฎหมายรองรับให้ทำได้ และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของศาล
น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด ด้วยความปรารถนาดีครับ

แนวคำพิพากษาเทียบเคียง
ฎีกาที่ 12770/2556

โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมา ส่วนจำเลยได้รับการยกให้ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) จากผู้มีชื่อ จึงนำเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดที่ดินดังกล่าวรวมทั้งที่ดินพิพาท โดยอ้างว่าจะเอาที่ดินพิพาทคืนทั้งหมด ตามคำฟ้องโจทก์ จำเลยยังไม่ได้เข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินพิพาท ข้ออ้างที่ว่าจำเลยแย่งสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทจึงยังไม่เกิด โจทก์ไม่มีสิทธิขอให้ศาลมีคำสั่งว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ทั้งตามคำขอท้ายฟ้องที่ให้บังคับจำเลยโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ ก็ไม่อาจบังคับได้เพราะจำเลยไม่มีหน้าที่ตามข้อผูกพันใดที่จะต้องโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินเนื้อที่ประมาณ 6 ไร่ 1 งาน ซึ่งอยู่ในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1013 ตำบลเสือเฒ่า อำเภอเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม ตามแผนที่ดินพิพาทท้ายฟ้อง และบังคับให้จำเลยโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์โดยโจทก์เป็นผู้เสียค่าธรรมเนียมการโอน หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท เนื้อที่ประมาณ 6 ไร่ 1 งาน 95 ตารางวา ตามแผนที่พิพาท ซึ่งอยู่ในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1013 ตำบลเสือเฒ่า อำเภอเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนด ค่าทนายความ 8,000 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โจทก์บรรยายฟ้องมีใจความว่า ที่ดินพิพาทเนื้อที่ 6 ไร่ 1 งาน เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1013 ตำบลเสือเฒ่า อำเภอเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม เดิมเป็นของนางนวล โดยนายลี กับนางหวด บิดามารดาโจทก์ได้รุกล้ำเข้าไปครอบครองที่ดินพิพาท ต่อมานายลีและนางหวดได้ยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โจทก์ครอบครองทำประโยชน์ที่ดินพิพาทตลอดมา ส่วนจำเลยได้รับการยกให้ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1013 จากนางนวลกับนางร่วมจิตร์ จำเลยจึงนำเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดที่ดินดังกล่าวรวมทั้งที่ดินพิพาท โดยอ้างว่าจะเอาที่ดินพิพาทคืนทั้งหมด เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์เป็นกรณีที่จำเลยมีชื่อเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์และโจทก์ได้แย่งการครอบครองและเข้าทำประโยชน์ที่ดินพิพาทตลอดมา แล้วจำเลยนำเจ้าพนักงานที่ดินไปรังวัดที่ดินพิพาท โดยที่จำเลยยังไม่ได้เข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินพิพาท ดังนั้น ข้ออ้างที่ว่าจำเลยแย่งสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทจึงยังไม่เกิด โจทก์ไม่มีสิทธิขอให้ศาลมีคำสั่งว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ทั้งตามคำขอท้ายฟ้องที่ให้บังคับจำเลยโอนที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ ก็ไม่อาจบังคับได้เพราะจำเลยไม่มีหน้าที่ตามข้อผูกพันใดที่จะต้องโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้น ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ
#2 โดย: นักศึกษา [IP: 184.22.170.xxx]
เมื่อ: 2022-08-21 19:20:16
ขอขอบพระคุณอย่างสูงครับท่าน ผมยินดีกับการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องเป็นอย่างยิ่งครับ

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 123,467