สิทธิของผู้ให้เช่าที่ดิน

โดย: ทิพย์ [IP: 125.26.175.xxx]
เมื่อ: 2022-09-12 15:12:21
ดิฉันได้ให้นาย ข เช่าที่ดินแปลงหนึ่งเพื่อประกอบกิจการร้านอาหาร ทำสัญญาให้เช่าระยะเวลา 3 ปี จ่ายค่าเช่ารายเดือน และไม่ได้เก็บเงินมัดจำแต่อย่างใด นาย ข ได้ลงมือปลูกสร้างอาคาร เทพื้นซีเมนต์และขึ้นโครงเหล็ก โดยที่ตลอดเวลาตั้งแต่ทำสัญญา นาย ข ขอผัดผ่อน มิได้จ่ายค่าเช่าดิฉันเลยแม้แต่บาทเดียว ต่อมาประมาณ 6 เดือน นับแต่ทำสัญญา นาย ข ประสบปัญหาทางการเงิน ไม่สามารถดำเนินงานต่อได้ การก่อสร้างหยุดลงแค่ขึ้นโครงเหล็กของร้าน นาย ข

ขอเลิกสัญญา คืนที่ดินแปลงนี้มา หลังจากนี้ ดิฉันสามารถรื้อโครงเหล็กที่นาย ข สร้างไว้ได้หรือไม่ และหากรื้อ จะต้องชดใช้ค่าเหล็กแก่นาย ข หรือไม่ จะถือว่าเป็นค่าเช่าตลอด 6 เดือนที่ผ่านมาได้หรือไม่
#1 โดย: มโนธรรม [IP: 223.205.248.xxx]
เมื่อ: 2022-09-13 08:52:37
การให้เช่า
การทำสัญญาเช่ากันเอง เพียง 3 ปี ก็สามารถใช้บังคับได้ แต่การปลูกสร้างอาคารบนที่ดินที่ให้เช่า ถ้าในสัญญาเช่าไม่ระบุให้ชัดเจนว่าจะจัดการอย่างไรกับอาคารที่ปลูกสร้างนั้น เมื่อครบสัญญาเช่า หรือเมื่อเลิกให้เช่า ย่อมมีปัญหาโต้แย้งแน่นอน....เมื่อผิดสัญญา และมีการบอกเลิกสัญญาโดยชอบแล้ว ถ้าผู้เช่าย้ายออกไป ผู้ให้เช่าก็สามารถเข้าครอบครองที่ดิน ในฐานะเจ้าของได้ แต่การบอกเลิกสัญญาควรมีหลักฐานชัดเจน และควรมีข้อตกลงเรื่องอาคารที่ชัดเจนเช่นกัน เช่นให้ผู้เช่ารื้อไป หรือ ให้ตกเป็นของผู้ให้เช่า ถ้าตกลงกันไม่ชัดเจน ผู้เช่าอาจใช้กฎหมายเล่นงานผู้เช่า ให้ต้องลำบากได้ เช่น ข้อหาบุกรุก ข้อหาทำให้เสียทรัพย์หรือข้อหาลักทรัพย์....จะใช้การเจรจาให้วัสดุต่างๆในการก่อสร้างเช่นโครงเหล็ก ให้ตกเป็นของผู้ให้เช่า เพื่อหักกลบลบหนี้กับค่าเช่า ก็สามารถทำได้ แต่ต้องทำบันทึกที่ชัดเจน... การเช่ามีปัญหาจุกจิกกวนใจมากมาย ทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมาย ถ้าทำสัญญาไม่รัดกุมเพียงพอ ย่อมมีปัญหาตามมามากมาย ด้วยความปรารถนาดี ครับ

แนวคำพิพากษาศาลฎีกาเทียบเคียง

ฎีกาที่ 2577/2551

จำเลยปลูกสร้างบ้านคอนกรีต 2 ชั้น บนที่ดินที่โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมโดยได้รับอนุญาตจากโจทก์ บ้านหรือโรงเรือนที่จำเลยปลูกสร้างขึ้น แม้ใช้บันไดเพื่อขึ้นชั้นที่ 2 ของอาคารด้วยบันไดเดียวกัน ย่อมไม่ใช่ส่วนควบของที่ดินที่โจทก์มีกรรมสิทธิ์รวมตาม ป.พ.พ. มาตรา 144 โจทก์จึงไม่มีกรรมสิทธิ์ในบ้านที่จำเลยสร้างขึ้นใหม่ บ้านดังกล่าวยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย
จำเลยปลูกสร้างบ้านหรือโรงเรือนบนที่ดินที่โจทก์มีกรรมสิทธิ์รวมย่อมเป็นการก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดินเป็นคุณแก่จำเลย แต่สิทธิเหนือพื้นดินดังกล่าวไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงเป็นเพียงบุคคลสิทธิระหว่างโจทก์เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมกับจำเลย และสิทธิเหนือพื้นดินดังกล่าวไม่มีกำหนดเวลา โจทก์บอกเลิกได้เมื่อบอกกล่าวล่วงหน้าแก่จำเลยตามสมควรตาม ป.พ.พ. มาตรา 1413
โจทก์ได้บอกกล่าวล่วงหน้าโดยนำคำสั่งไปปิดไว้หน้าโรงเรือนที่จำเลยสร้างขึ้นใหม่แล้ว มีข้อความระบุให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านเลขที่ 51 ออกไป บ้านเลขที่ 51 นั้น เป็นบ้านเก่าปลูกสร้างมาประมาณ 40 ปี ทำด้วยไม้ชั้นเดียวแต่ใต้ถุนสูง ส่วนบ้านของจำเลยเป็นอาคารคอนกรีต 2 ชั้น และสร้างบ้านใหม่ บ้านดังกล่าวของจำเลยแม้ไม่มีเลขที่ บ้านใช้บันไดร่วมกันเป็นโรงเรือนคนละหลังกัน ไม่ใช่โรงเรือนที่เป็นบ้านเลขที่ 51 ซึ่งเป็นส่วนควบของที่ดินที่โจทก์มีชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการบอกเลิกเพื่อให้จำเลยออกจากบ้านคอนกรีต 2 ชั้น ทั้งการบอกเลิกนั้นก็ใช้วิธีปิดที่ประตูบ้าน ไม่ได้ส่งให้แก่จำเลย โดยไม่ปรากฏว่ามีเหตุขัดข้องอย่างไรจึงต้องปิดคำสั่งเช่นนั้น กรณีจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้บอกเลิกเพื่อมิให้จำเลยมีสิทธิเหนือพื้นดินอันเป็นคุณแก่บ้านที่จำเลยปลูกสร้างขึ้น การบอกเลิกของโจทก์จึงไม่ชอบ โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่ให้จำเลยขนย้ายบริวารออกไปจากบ้านหรือโรงเรือนที่โจทก์อนุญาตให้จำเลยปลูกสร้างบนที่ดินที่โจทก์มีชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมและส่งมอบบ้านหรือโรงเรือนคืนให้แก่โจทก์
#2 โดย: ทิพย์ [IP: 125.26.175.xxx]
เมื่อ: 2022-09-13 11:07:46
ขอบคุณมากค่ะที่ให้คำแนะนำ

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 123,965