สินสมรส

โดย: เด็กเซาะกราว [IP: 184.22.142.xxx]
เมื่อ: 2023-01-18 02:26:22
สอบถามหน่อยครับพอดีคุณตาได้เสียชีวิตไปเมื่อปี2539 ได้ตั้งคุณยายเป็นผู้จัดการมรดก ได้มีการนำฉโนดจำนวน9ใบ มารวมไว้ให้คุณยายเป็นผู้จัดการมรดกเป็นผู้จัดการ เเต่มีฉโนด1ใบที่คุณยายแจ้งว่าเป็นของส่วนตัวแกซื้อมาด้วยตัวเองไม่เกี่ยวกับตาเเละหลังฉโนดมีเพียงชื่อยาย ไม่ได้เอามาจัดการมรดกด้วย ผ่านไปจนถึงปัจจุบันยายได้เสียชีวิต ได้ยกที่ดินแปลงนี้ให้ลูกคนเล็ก ทำให้ลูกๆคนอื่นรวมตัวกันมาฟ้อง คุณยายในฐานะผู้จัดการมรดกเเละลูกคนเล็กว่าโกง ที่ดินส่วนของเค้าที่พึงได้เพราะที่ดินแปลงนี้ ได้มาตอนตากับยายจดทะเบียนสมรส จึงอยากเรียนถามคุณทนายดังนี้

1.ตาได้เสียชีวิตไปเกือบสามสิบปี เเละไม่ได้เอามารวมในการจัดการมรดกตั้งเเต่เเรกทุกคนรับทราบ สามารถมาฟ้องย้อนหลังในปัจจุบันได้หรือไม่

2.ตามกฏหมาย เกินอายุความที่ฟ้องร้องหรือไม่ครับ

(ฉโนดใบนีหลังฉโนดมีเพียงชื่อคุณยายอย่างเดียวไม่มีชื่อคุณตา ต่างจากฉโนดใบอื่นๆที่จัดการมรดกที่เป็นชื่อคุณตา)



#1 โดย: มโนธรรม [IP: 223.205.235.xxx]
เมื่อ: 2023-01-18 08:18:08
สินสมรส

แม้จะมีชื่อของคุณยาย ถือกรรมสืทธิ์แต่เพียงผู้เดียว ในโฉนดที่ดิน แต่ถ้าข้อเท็จจริงมีว่า ที่ดินแปลงนี้ ได้มาหลังจากที่คุณยายสมรสกับคุณตา ที่ดินแปลงนี้ก็เป็นสินสมรส แต่...เรื่องนี้ เป็นทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมาย ถ้าทายาทมีการโต้แย้ง และน้องคนเล็กไม่ยินยอม ก็คงต้องมีการฟ้องร้องกันยาวนาน เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง ซึ่งย่อมได้รับความบาดเจ็บกันถ้วนหน้า ขอแนะนำให้ใช้การเจรจาหาทางออกที่สันติ น่าจะดีที่สุด....ถ้าที่ดินแปลงนี้ เป็นสินสมรสจริง การที่คุณยาย มอบให้น้องคนเล็กเพียงผู้เดียว ก็เพิกถอนการโอนได้เพียงกึ่งหนึ่ง อีกกึ่งหนึ่ง ย่อมเป็นกรรมสิทธิ์ของน้องคนเล็ก เพราะคุณยายย่อมมีกรรมสิทธิ์กึ่งหนึ่งในสินสมรสนั้น จึงสามารถโอนให้น้องคนเล็กได้ ดังนั้นพี่น้องคนอื่น ถ้าจะฟ้องร้องต้องพิจารณาดูว่า จะคุ้มค่าหรือไม่ เพราะ น้องคนเล็กย่อมได้กรรมสิทธิ์กึ่งหนึ่งเสมอ ที่เหลือกึ่งหนึ่งต้องมาแบ่งปันทายาทคนอื่นๆ จะคุ้มหรือไม่ และที่ดินกึ่งหนึ่งที่เป็นสินสมรส ก็ต้องแบ่งปันทายาททุกๆคน รวมทั้งน้องคนเล็กด้วย ตัวอย่าง ถ้า.. ที่ดินแปลงนี้ มี 10 ไร่ มีทายาท(บุตร) 5 คน เมื่อคุณยายโอนให้ น้องคนเล็กทั้ง 10 ไร่ ก็เพิกถอนการโอนได้เพียง 5 ไร่ ส่วนอีก 5 ไร่ ส่วนของคุณยาย น้องคนเล็กย่อมได้กรรมสิทธิ์โดยสมบูรณ์ และน้องคนเล็ก ในฐานะทายาท ก็ย่อมได้ส่วนแแบ่ง ในที่ดิน 5 ไร่นี้อีก คือ 1 ไร่ สรุป น้องคนเล็กจะได้ส่วนแบ่ง 6 ไร่ พี่น้องคนอื่นๆได้เพียงคนละ 1 ไร่ ที่ยกตัวอย่างให้เห็น เพื่อให้พิจารณาดูว่า ถ้าฟ้องร้องจะคุ้มค่าหรือไม่

1.ตาได้เสียชีวิตไปเกือบสามสิบปี เเละไม่ได้เอามารวมในการจัดการมรดกตั้งเเต่เเรกทุกคนรับทราบ สามารถมาฟ้องย้อนหลังในปัจจุบันได้หรือไม่
ตอบ...เรื่องนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมาย ถ้าตีความตามพพ. ม. 1733 วรรคสองที่ระบุว่า ห้ามทายาทฟ้องเกินกว่าห้าปีนับแต่การจัดการมาดกสิ้นสุดลง...ถ้าว่าตามนี้ ฟ้องไปก็ย่อมเสียเปรียบคือแพ้คดี....ถ้าตีความตาม ปพพ. ม.1336 ก็ฟ้องได้แม้เกิน 30 ปี เพราะถือว่า น้องคนเล็ก ถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน กึ่งหนึ่ง แทนทายาททุกๆคน ซึ่งไม่มีอายุความ แต่ศาลจะใช้มาตราใด มาเป็นเป็นข้อวินิจฉัย คงไม่สามารถหยั่งรู้ได้ คดีแบบนี้ เรียกว่า คดี 50-50 คือมีโอกาสเแพ้และชนะเท่าๆกัน ทำไมต้องไปเสี่ยง พี่น้องควรพูดคุยกันหาทางออก ถ้าคุยกันไม่ได้ ขอแนะนำให้ไปที่ สนง.อัยการขอให้อัยการคุ้มครองสิทธิ์ช่วยเหลือ ท่านคงเรียกทายาทมาเจรจากัน คงมีทางออกได้ หรือ ไปที่ศาล ไปที่ศูนย์ไกล่เกลี่ย ร้องขอให้มีการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง ทั้งสองทางที่แนะนำ ไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งย่อมมีทางออกที่สันติ พี่น้องไม่ต้องบาดหมางใจกัน

2.ตามกฏหมาย เกินอายุความที่ฟ้องร้องหรือไม่ครับ
ตอบแล้วตาม ข้อ 1 ครับ

แนวคำพิพากษาศาลฎีกาเทียบเคียง

คำพิพากษาศาลฎีกาทที่ 1410/2529

น. และจำเลยที่1ผู้จัดการมรดกของส. ต่างก็เป็นทายาทของเจ้ามรดกโดยน. เป็นภรรยาจำเลยที่1เป็นบุตรการที่บุคคลทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกโอนทรัพย์มรดกให้แก่ตนเองและทายาทอื่นซึ่งมีสิทธิได้รับมรดกอยู่แล้วมิใช่เป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดก. ผู้จัดการมรดกมิได้ทำบัญชีทรัพย์มรดกยื่นต่อศาลเป็นกรณีที่ศาลอาจถอนผู้จัดการมรดกเสียได้เท่านั้นหาเป็นเหตุให้อำนาจในการจัดการมรดกสิ้นสุดไปไม่เมื่อไม่ปรากฏว่าศาลถอนผู้จัดการมรดกอำนาจในการจัดการมรดกของผู้จัดการมรดกยังคงมีอยู่ต่อไป เมื่อผู้จัดการมรดกได้ทำการโอนทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่ทายาทของเจ้ามรดกไปหมดแล้วในวันที่29ตุลาคม2518ถือว่าการจัดการมรดกสิ้นสุดลงแล้วตั้งแต่วันดังกล่าวโจทก์ฟ้องคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกเมื่อวันที่4มิถุนายน2524เกินกว่า5ปีนับแต่การจัดการมรดกเสร็จสิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงขาดอายุความตามป.พ.พ.มาตรา1733 คำฟ้องโจทก์มิได้แสดงโดยแจ้งชัดให้เห็นว่าผู้จัดการมรดกก็ดีจำเลยก็ดีได้กระทำการใดๆอันจะถือได้ว่าเป็นการรับสภาพความผิดต่อโจทก์ตามป.พ.พ.มาตรา172หรือกระทำการอื่นใดอันจะถือว่าเป็นการละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความตามป.พ.พ.มาตรา192จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากันมาในศาลชั้นต้นปัญหาเรื่องนี้เป็นเรื่องอายุความฟ้องร้องมิใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกาย่อมไม่รับวินิจฉัย.

คำพิพากษาย่อยาว

โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดก และทายาทผู้รับมรดกขอแบ่งมรดก
จำเลยให้การว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733
ศาลชั้นต้นพิพากษาฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ปัญหาแรกการกระทำของผู้จัดการมรดกเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกหรือไม่นั้นได้ความว่า นางนิตย์ หังสพฤกษ์และจำเลยที่ 1 ผู้จัดการมรดกของนายสถิตย์เจ้ามรดกต่างก็เป็นทายาทของเจ้ามรดก โดยนางนิตย์เป็นภรรยา จำเลยที่ 1 เป็นบุตรเจ้ามรดกที่บุคคลทั้งสองโอนทรัพย์มรดกให้แก่ตนเองและทายาทอื่น ซึ่งมีสิทธิได้รับมรดกอยู่แล้ว จึงมิใช่เป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3408/2525 ระหว่างนางนิตยา ตรีวรพันธุ์ ฯโจทก์ นายเที้ยง ตรีวรพันธุ์ หรือแช่ตี๋ จำเลย ซึ่งโจทก์ทั้งสามอ้างมาประกอบฎีกาข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้เทียบเคียงกันไม่ได้ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อไป กรณีสิทธิเรียกร้องของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่นั้นโจทก์ฎีกาโต้เถียงว่าผู้จัดการมรดกมิได้ทำบัญชีทรัพย์มรดกยื่นต่อศาล ย่อมถือว่าการจัดการมรดกยังไม่เสร็จสิ้น อายุความจึงยังไม่เริ่มนับประการหนึ่ง และจำเลยละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความแล้ว คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความอีกประการหนึ่งนั้น เห็นว่าฎีกาข้อแรกที่ผู้จัดการมรดกมิได้ทำบัญชีทรัพย์มรดกยื่นต่อศาลเป็นกรณีที่ศาลอาจถอนผู้จัดการมรดกเสียได้ หาเป็นเหตุให้อำนาจในการจัดการมรดกสิ้นสุดไปไม่ เมื่อไม่ปรากฎว่าศาลถอนผู้จัดการมรดกอำนาจในการจัดการมรดกของผู้จัดการมรดกก็ยังคงมีอยู่ต่อไป และเมื่อทรัพย์มรดกมีเพียงที่ดิน 14 แปลง กับสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินตามบัญชีทรัพย์มรดกท้ายฟ้องเอกสารหมายเลข 3 ผู้จัดการมรดกได้ทำการโอนทรัพย์มรดกเหล่านั้นให้แก่ทายาทของเจ้ามรดกไปหมดแล้วในวันที่29 ตุลาคม 2518 ถือว่าการจัดการมรดกสิ้นสุดลงแล้วตั้งแต่วันดังกล่าว คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 987/2485 ระหว่างนางสาวเกล็ดมณีบุนนาค โจทก์ คุณหญิงประชุม มนตรีสุริยวงศ์ กับพวก จำเลย และพิพากษาศาลฎีกาที่ 1628/2511 ระหว่างวัดมกุฎกษัตริยารามกับพวกโจทก์ นางมณี อุทกภาชน์ จำเลย ที่โจทก์ทั้งสามอ้างมาประกอบฎีกานั้นเห็นว่าข้อเท็จจริงทั้งสองคดีดังกล่าวได้ความว่าผู้จัดการมรดกยังมิได้แบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททั้งหลายจนหมดสิ้นแต่อย่างใดกองมรดกจึงอยู่ในระหว่างจัดการ จึงนำมาเทียบเคียงกับคดีนี้ไม่ได้ส่วนฎีกาข้อที่ว่าจำเลยละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความ จะยกอายุความขึ้นต่อสู้โจทก์ไม่ได้นั้น เห็นว่า คำฟ้องโจทก์มิได้แสดงโดยชัดแจ้งให้เห็นว่าผู้จัดการมรดกก็ดี จำเลยทั้งหกก็ดีได้กระทำการใด ๆ อันจะให้ถือว่าเป็นการรับสภาพความรับผิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 หรือกระทำการอื่นใดอันจะถือไ้ดว่าเป็นการละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 192 จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสามยกปัญหาข้อนี้ขึ้นมาว่ากันในศาลชั้นต้น โจทก์เพิ่งยกขึ้นมาในชั้นอุทธรณ์ฎีกา ซึ่งปัญหานี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับอายุความฟ้องร้องมิใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงต้องห้ามอุทธรณ์ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมา และต้องห้ามฎีกาด้วยศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้จัดการมรดกแบ่งมรดกทั้งหมดให้แก่ทายาทบางคนไปแล้ว ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2518 การจัดการมรดกย่อมสิ้นสุดตั้งแต่บัดนั้น โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2524 เกินกว่า 5 ปี นับแต่การจัดการมรดกเสร็จซึ่งตามฟ้องเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก โจทก์ทั้งสามต่างก็เป็นทายาทสิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสามนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ทั้งสามฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน".

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 123,475