การหมั้น

โดย: คิม [IP: 124.122.92.xxx]
เมื่อ: 2023-04-02 12:02:33
ตามกฎหมาย ถ้าการหมั้นมีผลเป็นโมฆะ (ฝ่ายหนึ่งอายุต่ำกว่า 17) แล้วฝ่ายชายไปทำคนอื่นท้องและจดทะเบียนสมรสกับคนนั้น ถ้าฝ่ายหญิงบอกเลิกสัญญาหมั้น ฝ่ายชายต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนมั้ย ตามปพพ มาตรา 1439
#1 โดย: มโนธรรม [IP: 49.228.49.xxx]
เมื่อ: 2023-04-03 11:24:34
การหมั้น

(ความเห็น) เมื่อเป็นการหมั้นที่ฝ่ายฝืนกฎหมาย คือ อีกฝ่ายอายุไม่ถึง 17 ปี การหมั้นจึงเป็นโมฆะ ฝ่ายชายและฝ่ายหญิง ไม่สามารถเรียกค่าทดแทนแก่กันและกันได้..
แนวคำพิพากษาศาลฎีกาเทียบเคียง

ฎีกาที่ 1117/2535

โจทก์ที่ 2 กับจำเลยที่ 3 เพียงแต่ประกอบพิธีแต่งงานเพื่ออยู่กินกันตามประเพณีโดยไม่มีเจตนาจะจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมายเงินทั้งหลายที่ฝ่ายโจทก์มอบให้ฝ่ายหญิง จึงไม่ใช่ของหมั้นและสินสอดตามกฎหมาย แม้จะมีการหมั้นกันตามประเพณีและมอบทรัพย์สินให้แก่กันในขณะจำเลยที่ 3 อายุยังไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์ โจทก์ก็หามีสิทธิเรียกคืนไม่

คำพิพากษาย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นบิดาโจทก์ที่ 2 ได้สู่ขอและหมั้นจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรสาวของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้โจทก์ที่ 2 ด้วยเงินสด 4,000 บาท และในวันทำพิธีสมรส โจทก์ทั้งสองได้มอบเงินสินสอดจำนวน 11,000 บาท และต้องเสียค่าอาหารและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จำนวน 10,150 บาท แต่หลังจากการสมรสแล้วจำเลยที่ 3 ไม่ยอมไปจดทะเบียนสมรสและไม่ยอมอยู่กินเป็นสามีภรรยากับโจทก์ที่ 2 ต่อมาโจทก์ทั้งสองทราบความจริงว่าขณะหมั้นจำเลยที่ 3อายุไม่ครบ 17 ปี การหมั้นจึงตกเป็นโมฆะ จำเลยทั้งสามต้องคืนเงินของหมั้นและเงินสินสอดกับชดใช้ค่าอาหารและค่าใช้จ่ายต่าง ๆแก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสามไม่คืนและไม่ชดใช้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 25,150 บาท กับดอกเบี้ย 396 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 25,150 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เรียกสินสอดจากโจทก์อย่างเดียวเป็นเงิน 15,000 บาท หลังทำการสมรสโจทก์ที่ 2อยู่กินกับจำเลยที่ 3 เป็นเวลา 2 เดือนเศษ แล้วออกจากบ้านไปเองโจทก์ที่ 2 ไม่เคยเรียกร้องให้มีการจดทะเบียนสมรสจำเลยที่ 3ยังพร้อมที่จะจดทะเบียนสมรสและอยู่กินกับโจทก์ที่ 2 จำเลยทั้งสามไม่ผิดสัญญา ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน15,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามไม่ต้องคืนเงินของหมั้นและเงินสินสอดแก่โจทก์ทั้งสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏจากการนำสืบของโจทก์ว่า ทั้งก่อนและในวันแต่งงานฝ่ายโจทก์ได้เคยพูดกับทางฝ่ายจำเลยถึงเรื่องการจดทะเบียนสมรสให้เป็นกิจจะลักษณะ ตลอดเวลาที่อยู่กินด้วยกันประมาณ 1 เดือน โจทก์ที่ 2 ก็ไม่เคยขอให้จำเลยที่ 3ไปจดทะเบียนสมรส กลับได้ความจากโจทก์ที่ 2 เองว่า โจทก์ที่ 2ไม่เคยมีความคิดที่จะจดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 3 มาก่อน โจทก์ที่ 2ไปขอให้จำเลยที่ 3 ไปจดทะเบียนสมรสตามคำแนะนำของทนายความนอกจากนั้นโจทก์ที่ 2 ยังเบิกความว่า แม้จำเลยที่ 3 อายุไม่ครบ17 ปี โจทก์ที่ 2 ก็จะแต่งงานด้วย ซึ่งแสดงว่าโจทก์ที่ 2มุ่งประสงค์จะแต่งงานอยู่กินกับจำเลยที่ 3 ตามประเพณีเป็นสำคัญหาได้นำพาต่อการจดทะเบียนสมรสไม่ เมื่อโจทก์ที่ 2 กับจำเลยที่ 3เพียงแต่ประกอบพิธีแต่งงานเพื่ออยู่กินกันตามประเพณี ไม่มีเจตนาจะจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย เงินทั้งหลายที่ฝ่ายโจทก์มอบให้แก่ฝ่ายจำเลยจึงไม่ใช่ของหมั้นและสินสอดตามกฎหมาย แม้จะมีการหมั้นกันตามประเพณีและมอบทรัพย์สินให้แก่กัน ในขณะที่จำเลยที่ 3อายุยังไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์ โจทก์ก็หามีสิทธิเรียกคืนไม่
พิพากษายืน

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 123,548