สัญญาเช่าต่างตอบแทนพิเศษ

โดย: สุรี [IP: 158.108.229.xxx]
เมื่อ: 2023-12-21 08:59:48
ที่ดินเปล่ามีผู้ลงทุนปลูกอาคารเพื่อให้เช่าเป็นอพาร์เม้นท์ โดยให้เงินค่าหน้าดิน 1 ก้อน และให้ค่าเช่ารายเดือน โดยจดทะเบียนที่กรมที่ดินเป็นระยะเวลา 30 ปี

เนื่องจากจดทะเบียนทำได้แค่เพียง 30 ปี จึงมีการทำสัญญาต่อท้ายไว้อีก 10 ปี ต่อมาผู้ให้เช่าเสียชีวิตก่อนหมดสัญญา 30 ปีซึ่งผู้เช่าทราบแต่ไม่ได้มาติดต่อมาทำสัญญา รอจนใกล้หมดสัญญาจึงติดต่อมาให้ทายาทไปจดทะเบียนใน 10 ปีหลัง ในกรณีขอทราบความคิดเห็นค่ะว่า

1.ทายาทที่รับมรดกมาสามารถบอกเลิกสัญญา 10 ปี ในสัญญาแนบท้ายได้หรือไม่คะ

2.ถ้าบอกเลิกสัญญาไม่ได้มีหนทางใดที่จะเรียกค่าเช่าหรือค่าหน้าดินของ 10 ปีหลังให้เป็นไปตามสภาพการณ์ปัจจุบันได้บ้างคะ
#1 โดย: มโนธรรม [IP: 49.228.50.xxx]
เมื่อ: 2023-12-21 15:53:29
สัญญาเช่าต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา

1.ทายาทที่รับมรดกมาสามารถบอกเลิกสัญญา 10 ปี ในสัญญาแนบท้ายได้หรือไม่คะ

ตอบ...ได้ยกหัวเรื่องมาตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกา หลายๆฎีกา คือเพิ่มคำว่า "ยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา" ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกา หลายฎีกา ได้วินิจฉัย เรื่องสัญญาเช่าต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา ไปในทำนองเดียวกันว่า แม้คู่สัญญาถึงแก่ความตาย ทายาทต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ ดังนั้นการบอกเลิกสัญญาน่าจะทำไม่ได้ง่ายๆ

2.ถ้าบอกเลิกสัญญาไม่ได้มีหนทางใดที่จะเรียกค่าเช่าหรือค่าหน้าดินของ 10 ปีหลังให้เป็นไปตามสภาพการณ์ปัจจุบันได้บ้างคะ
ตอบ...ก็ต้องใช้การเจรจาตกลงกันเป็นสำคัญ การไกล่เกลี่ยเจรจากัน เพื่อหาทางออกที่เหมาะสม น่าจะดีกว่า การมีคดีฟ้องร้องกันยาวนาน ด้วยความปรารถนาดี ครับ

แนวคำพิพากษาศาลฎีกา เทียบเคียง..
ฎีกาที่ 172/2488
เจ้าของตึกทำสัญญากับผู้เช่าว่ายอมให้ผู้เช่าออกทุนสร้างตึกให้ดีขึ้นตามรายงานที่ตกลงกัน เมื่อเสร็จแล้วเจ้าของยอมให้ผู้เช่าเช่าต่อไป 15 ปีในอัตราค่าเช่าเดิม ดังนี้เป็นสัญญาต่างตอบแทนกันอันเกี่ยวกับทรัพย์สินย่อมตกทอดไปยังทายาท ผู้จัดการทรัพย์มรดกของผู้เช่า ฟ้องขอให้ผู้ให้เช่ายอมให้เช่าต่อไปจนครบ 15 ปีตามสัญญาเช่าได้
ฎีกาที่ 801/2492
ทำสัญญาเช่าที่ดิน โดยมีข้อสัญญาว่า ผู้เช่าต้องหาต้นผลไม้มาปลูกเอง ดังนี้ เป็นสัญญาต่างตอบแทนเมื่อผู้เช่าตาย สิทธิและหน้าที่ของผู้เช่าก็ตกไปยังทายาท ทายาทมีสิทธิที่จะได้เช่าต่อไปจนครบกำหนดตามสัญญาเช่าที่ทำไว้ต่อกัน (อ้างฎีกา 172/2488)
ฎีกาที่ 2526/2531
สัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา แม้ไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการเช่าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ใช้บังคับกันได้ตามข้อตกลงและถือไม่ได้ว่าเป็นสิทธิเฉพาะตัว แม้คู่สัญญาจะตาย สิทธิและหน้าที่ดังกล่าวก็ต้องตกทอดไปยังทายาท
สัญญาเช่าระหว่างจำเลยกับ ฉ. ผู้ให้เช่าเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา และมีข้อตกลงให้เช่าช่วงได้ เมื่อจำเลยเช่ายังไม่ครบกำหนดและให้เช่าช่วงตามข้อตกลง จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยผิดสัญญา โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา และไม่มีอำนาจฟ้อง และที่จำเลยฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ ฉ. จดทะเบียนการเช่า เป็นการให้ปฏิบัติตามกฎหมายเพื่อให้การเช่าได้จดทะเบียนการเช่าสมบูรณ์ยิ่งขึ้นดังนี้ จำเลยจึงฟ้องแย้งให้โจทก์ไปจดทะเบียนการเช่าได้
#2 โดย: สุรี [IP: 158.108.229.xxx]
เมื่อ: 2023-12-22 15:37:09
ขอบคุณมากค่ะ

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 124,075