ใช่ฟ้องแย้งไหมคะ

โดย: ลินดา [IP: 49.228.247.xxx]
เมื่อ: 2024-01-18 17:17:34
ดิฉันอยู่ต่างจังหวัด อีกจังหวัดหนึ่งมีที่ดินติดกับที่ดินญาติ ตอนแรกเขาขอเอารถเข้าไปจอดก็อนุญาต แต่หลายปีผ่านไปพบว่าเขาทุบแท้งน้ำเอาต้นไม้มาปลูกก็ไปต่อว่าทะเลาะกัน ขณะนี้เขาไปยื่นศาลบอกว่าเป็นที่ดินของเขา( ที่ดิน น.ส. 3 )

ญาติบอกว่าไปคัดค้านเรียกค่าเสียหายค่าแท้ง จะเรียกว่าฟ้องแย้งใช่ไหมคะและจะเรียกค่าเสียหายได้ไหม ขอบคุณคะกลุ้มใจมากเลยเสียดายที่ดินของแม่
#1 โดย: มโนธรรม [IP: 49.228.49.xxx]
เมื่อ: 2024-01-19 15:43:40
ปัญหาที่ดิน

ตามข้อเท็จจริง คุณน่าจะอยู่ในฐานะเสียเปรียบ เพราะให้ญาติเข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดิน ที่มีเอกสารเป็น นส.3 คือคุณมีเพียงสิทธิครอบครอง ไม่ได้มีกรรมสิทธิ์ ดังเช่นโฉนดที่ดิน การอนุญาตให้เขาเข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดิน โดยไม่มีการทำบันทึกข้อตกลงกันไว้ให้ชัดเจน (ทำนองเป็นสัญญาให้ใช้ที่ดิน) หลายปีผ่านไป เมื่อความโลภเข้ามาบดบังตา คุณธรรมของเขาย่อมเสี่อมถอย เขาก็คงอ้างหน้าตาเฉยว่า ที่ดินเป็นของเขา เพราะมีหลักกฎหมายที่เจ็บปวด คือ ที่ดิน มือเปล่า (มีเอกสาร เป็น นส.3 หรือ สค.1 ) ถ้าเจ้าของผู้มีสืทธิครอบครองไม่ได้โต้แย้งการแย่งการครอบครองภายใน หนึ่งปี ย่อมหมดอำนาจฟ้อง ที่ดินจะตกเป็นของ ผู้แย่งการครอบครองอย่างง่ายดาย ตาม ปพพ. ม.1375...ที่ญาติแนะนำให้ฟ้องแย้ง เรียกค่าเสียหายเรื่องแทงก์น้่ำนั้น ไม่น่าจะใช่ กรณีนี้ คุณควรฟ้องขับไล่ ให้เขาออกจากที่ดิน ไม่ให้ใช้ประโยชน์ในทที่ดินแปลงนี้อีกต่อไป และเรียกค่าเสียหายต่างๆ และแทงก์น้ำได้ด้วย ที่จริงควรแจ้งความดำเนินคดีฐานทำให้เสียทรัพย์น่าจะสะดวกกว่า (มีโทษจำคุกสามปี ) การฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง ไม่น่าจะคุ้ม....ถ้าคุณฟ้องขับไล่ คุณต้องมีภาระไปหาพยานหลักฐาน โดยเฉพาะพยานบุคคลมานำสืบให้ได้ว่า คุณอนุญาตให้เขาเข้าไปใช้ประโยชน์ที่ดิน ไม่ใช่เขาเข้าไปแย่งการครอบครองเอง ถ้าพิสูจน์ในประเด็นนี้ได้ คุณก็มีโอกาสได้ที่ดินคืน แต่ถ้าเขาอ้างว่า เขาบุกรุกเข้าไปครอบครองโดยคุณไม่เคยอนุญาต ถ้าศาลเชื่อประเด็นนี้ เขาย่อมชนะคดี เพราะเขาบุกรุกเข้าไปแย่งชิงเกินหนึ่ง ปี คุณจึงน่าจะแพ้คดี...คุณน่าจะเคยได้ยินได้ฟัง "นิทานอีสป เรื่องชาวนากับงูเห่า" ที่อีสปเล่ามากว่าพันปี แต่ยังทันอยู่สมัยเสมอ คือการช่วยเหลือคนพาลมีแต่พบกับความเดือดร้อน เสมือนชาวนา กลัวงูเห่าจะหนาวตาย จึงอุ้มมากอด จึงถุกงูเห่ากันตาย...
มีทางออกอีกทางหนึ่ง ซึ่งน่าจะช่วยคุณได้ คือ "การไกลเกลี่ยก่อนฟ้อง" ไปที่ศาล ไปที่ศูนย์ไกล่เกลี่ยฯ จะมีเจ้าหน้าที่แนะนำ เมื่อมีการเชิญคู่กรรีมาเจรจากัน น่าจะมีทางออกที่ไม่เจ็บปวดมากจนเกินไป มีผู้ไกล่เกลี่ย และศาลช่วยเหลือดูแลอย่างใกล้ชิด และขอให้ศาลพิพากษาตามยอม (ตามข้อตกลง)ได้ โโยไม่ต้องมีการฟ้องคดี และไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น ด้วยความปรารถนาดี ครับ
อ้อเขาได้่ฟ้องคุณแล้ว คุณก็ขอให้มีการไกล่เกลี่ยได้ เช่นกัน แต่เป็นการไกล่เกลี่ยหลังฟ้อง กระบวนการก็ไม่แตกต่างกันมาก และน่าจะจบลงอย่างสันตื...
#2 โดย: มโนธรรม [IP: 49.228.49.xxx]
เมื่อ: 2024-01-19 15:47:52
แนวคำพิพากษาศาลฎีกา เทียบเคียง...

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3422/2551
จำเลยล้อมรั้วไม้ไผ่ในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นของโจทก์ โจทก์แจ้งให้จำเลยระงับการกระทำดังกล่าวแต่จำเลยยังคงทำการล้อมรั้วจนแล้วเสร็จ เป็นการแสดงเจตนาแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทนับตั้งแต่วันที่มีการล้อมรั้วไม้ไผ่
ป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง เป็นบทบังคับเรื่องกำหนดเวลาสำหรับฟ้อง ไม่ใช่เรื่องอายุความ จึงไม่อาจนำเรื่องอายุความสะดุดหยุดลงมาใช้บังคับได้
โจทก์ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทเกิน 1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง โจทก์ย่อมขาดสิทธิฟ้องร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยรื้อถอนรั้วออกไปจากที่ดินพิพาทและเรียกค่าเสียหายจากจำเลย

คำพิพากษาย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เดิมที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1) เลขที่ 6/2498 หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านม้า อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ 3 งาน 42 ตารางวา เป็นของนายเลิศ นายย้อย และนางเยื้อน เมื่อบุคคลทั้งสามถึงแก่ความตายโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับมรดกในฐานะทายาทของนายเลิศได้ครอบครองที่ดินดังกล่าวร่วมกับทายาทของนายย้อยและนางเยื้อนจำเลยที่ 1 เป็นมารดาของจำเลยที่ 2 และเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ดิน 8896 ตำบลบ้านม้า อำเภอบางไทร (เสนาน้อย) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศตะวันตกเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2542 จำเลยทั้งสองได้ล้อมรั้วไม้ไผ่ทางด้านทิศตะวันออกของที่ดินโฉนดเลขที่ 8896 รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์เนื้อที่ประมาณ 149 ตารางวา โจทก์แจ้งให้จำเลยทั้งสองระงับการกระทำดังกล่าวแต่จำเลยทั้งสองล้อมรั้งจนแล้วเสร็จ โจทก์จึงแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนแจ้งให้จำเลยที่ 1 ไปยื่นคำขอสอบเขตที่ดินหรือให้โจทก์ไปยื่นคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดินโจทก์จึงไปยื่นคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดินแต่จำเลยทั้งสองคัดค้านแนวเขตเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานที่ดินไม่อาจรังวัดออกโฉนดที่ดินให้โจทก์ได้ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรื้อถอนขนย้ายรั้งไม้ไผ่ที่ล้อมรุกล้ำที่ดิน ส.ค.1 เลขที่ 6/2498 หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านม้า อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และห้ามจำเลยทั้งสองเกี่ยวข้องอีกต่อไป ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 1,000 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะปฏิบัติตามคำขอข้างต้น
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์มิใช่ผู้รับมรดกของนายเลิศ โกษะและมิได้เป็นผู้ครอบครองที่ดิน ส.ค.1 เลขที่ 6/25498 จำเลยที่ 1 ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ 8896 ของจำเลยที่ 1 ทางด้านทิศตะวันออกตั้งแต่ปี 2502 ต่อมาจำเลยที่ 1 ยกที่ดินของจำเลยที่ 1 และที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อปี 2536 จำเลยที่ 2 จึงเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวจนถึงปัจจุบัน โจทก์มิได้ฟ้องภายใน 1 ปี จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของรวมที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1) เลขที่ 6/2498 หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านม้า อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำเลยที่ 1 เป็นมารดาของจำเลยที่ 2 และเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 8896 ตำบลบ้านม้า อำเภอบางไทร (เสนาน้อย) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศตะวันตก เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2542 จำเลยทั้งสองได้ล้อมรั้วไม้ไผ่ในที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของที่ดินโฉนดเลขที่ 8896 โจทก์แจ้งให้จำเลยทั้งสองระงับการกระทำดังกล่าวแต่จำเลยทั้งสองล้อมรั้วจนแล้วเสร็จ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนรั้วออกไปจากที่ดินพิพาทและเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยทั้งสองได้ล้อมรั้วไม้ไผ่ที่ดินพิพาทซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นของโจทก์ และเมื่อโจทก์แจ้งให้จำเลยทั้งสองระงับการกระทำดังกล่าวแต่จำเลยทั้งสองยังคงทำการล้อมรั้วจนแล้วเสร็จ กรณีย่อมเห็นได้ว่าจำเลยทั้งสองได้แสดงเจตนาแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทนับตั้งแต่วันที่มีการล้อมรั้วไม้ไผ่ คือ ในวันที่ 8 ธันวาคม 2542 ที่โจทก์ฎีกาว่าหลังเกิดเหตุผู้ใหญ่บ้านได้เรียกโจทก์และจำเลยทั้งสองมาไกล่เกลี่ยเรื่องที่ดินพิพาท จำเลยทั้งสองตกลงกับโจทก์ว่าหามีการรังวัดสอบเขตที่ดินแล้วปรากฏว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ จำเลยทั้งสองจะคืนให้โจทก์ และต่อมาทั้งสองฝ่ายยังได้ทำบันทึกต่อพนักงานสอบสวนด้วยว่า หากผลการรังวัดสอบเขตที่ดินได้ความว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ใดก็จะดำเนินการฟ้องคดีต่อไป แสดงว่าจำเลยทั้งสองยังเคารพสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์หาใช่เป็นการแย่งการครอบครองไม่และกรณีต้องนำเรื่องอายุความสะดุดหยุดลงมาใช้บังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 (ที่ถูก มาตรา 193/14) ประกอบมาตรา 1386 โจทก์จึงไม่ต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2542 นั้น เห็นว่า การฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองที่พิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 วรรคสอง นั้น เป็นบทบังคับเรื่องกำหนดเวลาสำหรับฟ้อง ไม่ใช่เรื่องอายุความ จึงไม่อาจนำเรื่องอายุความสะดุดหยุดลงมาใช้บังคับได้ เมื่อโจทก์ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทในวันที่ 15 ตุลาคม 2544 ซึ่งเกิน 1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง โจทก์ย่อมขาดสิทธิฟ้องร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 วรรคสอง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนรั้วออกไปจากที่ดินพิพาทและเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย"
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ
#3 โดย: ลินดา [IP: 49.228.247.xxx]
เมื่อ: 2024-01-19 20:36:55
ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงคะ จะปฎิบัติตาม ขอบคุณอีกครั้ง
#4 โดย: มโนธรรม [IP: 49.228.49.xxx]
เมื่อ: 2024-01-20 04:13:01
จุดเป็น/จุดตาย
ขอบอกว่า รู้สึกเป็นกังวลกับผู้ถาม แม้ไม่เคยรู้จักกัน แต่เห็นใจที่มีความเมตตา ให้ความช่วยเหลือผู้อื่น แต่กลับได้รับผลตอบแทน ที่เจ็บปวด จึงขอบอกเคล็ดลับหรือจุดแตกหักของคดีนี้ เพื่อให้ท่านเดินไปถูกทาง ไม่เสียเปรียบมากจนเกินไป
ผู้ร้อง (ญาติ) เขาคงอ้างว่า เขาเข้ามาแย่งการครอบครองที่ดินแปลงนี้(ของผู้ถาม) เมื่อเจ้าของไม่ได้โต้แย้งภายในหนึ่งปี เขาจึงมีสิทธิครอบครองที่ดีกว่า เพราะมีหลักการของกฎหมายว่า ผู้ครอบครองย่อมมีสิทธิดีกว่าบุคคลอื่น กฏหมายที่เขาใช้ในการอ้างอิง คือ ปพพ. ม.1367 ม.1368 ม.1369 ม.1370 ม.1371 และม.ม.1375 (ถ้าเจ้าของไม่โต้แย้งภายในหนึ่งปี จะหมดอำนาจฟ้อง) คือแพ้คดีได้ง่ายๆ จะขอยกตัวบทมาตราเหล่านี้ ให้อ่าน ข้างล่างนะครับ
สำหรับคุณ(เจ้าของที่ดิน) เมื่อถูกฟ้อง(เขาร้องว่าเขามีสิทธิครบครองดีกว่า) คุณ มีหน้าที่ สำคัญที่ต้องทำคือ ต้องยื่นคำให้การต่อสู้ตามกำหนดนัด อาจต้องมีทนายความ หรือให้เจ้าหน้าที่ศาลช่วยเหลือก็ได้ แนวทางต่อสู้ คือต้องชี้ให้เห็นว่า คุณเป็นผู้อนุญาตให้ญาติเข้าไปใช้ที่ดิน โดยให้ใช้เปล่า แต่ไม่ได้มีสัญญาใดๆ ญาติจึงไม่ได้สิทธิครอบครอง แม้จะครอบครองเกินหนึ่งปี เพราะไม่ได้แย่งการครอบครอง เขาก็จะพยายามอ้างว่า เขาเข้ามาใช้ประโยชน์ในที่ดินเอง คือแย่งการครอบครอง ประเด็นนี้จึงเป็น จุดเป็นจุดตายของคดี ถ้าคุณพิสูจน์ได้ว่า เป็นผู้อนุญาตให้เขา เข้าใช้ประโยชน์ในที่ดิน คุณก็ได้เปรียบ แต่ถ้าพิสูจน์ไม่ได้ คือ เขาเข้ามาใช้สอยที่ดินเอง คุณย่อมเสียเปรียบ...การยื่นคำให้การ เป็นสิ่งสำคัญมากๆ ถ้าไม่ยื่นฯ จะไม่สามาารถนำพยานหลักฐานเข้านำสืบหักล้างหรือต่อสู้ได้ ก็คงแพ้คดีตั้งแรก ดังนั้นอย่า ชะล่าใจ เมื่อถูกฟ้องต้องยื่นคำให้การไว้ก่อน คุณกีมีข้อต่อสู้ที่หักล้างได้ดีมากๆ คือ คุณเป็นผู้อนุญาต ให้เขาเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดิน(แต่คงต้องหาพยานมายืนยันให้ชัดเจน) และข้ออ้าง ตาม ม.1373 ที่ระบุว่า ใครมีชื่อในเอกสาร (นส.3) ให้สันนิษฐานว่าเป็๋นเจ้าของ...แต่เป็นเพียงข้อสันนิษฐาน ถ้าพิสูจน์ไม่ได้ว่า คุณเป็นผู้อนุญาตให้เขาใช้ประโยชน์ในที่ดิน คุณน่าจะแพ้คดี...แต่การไกล่เกลี่ยจะช่วยลดบรรยากาศของการต่อสู้ลงได้มาก แต่อย่างไรก็ตาม อย่่าลืมการยื่นคำให้การ ด้วยความปรารถนาดีครับ

กฎหมายที่ใช้อ้างอิง ในการตอบ...
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาฯิชย์

มาตรา 1367 บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน ท่านว่าบุคคลนั้นได้ซึ่งสิทธิครอบครอง

มาตรา 1368 บุคคลอาจได้มาซึ่งสิทธิครอบครองโดยผู้อื่นยึดถือไว้ให้

มาตรา 1369 บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินไว้ ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลนั้นยึดถือเพื่อตน

มาตรา 1370 ผู้ครอบครองนั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าครอบครองโดยสุจริตโดยความสงบและโดยเปิดเผย

มาตรา 1371 ถ้าพิสูจน์ได้ว่าบุคคลใดครอบครองทรัพย์สินเดียวกันสองคราวท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลนั้นได้ครอบครองติดต่อกันตลอดเวลา

มาตรา 1372 สิทธิซึ่งผู้ครอบครองใช้ในทรัพย์สินที่ครอบครองนั้นท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสิทธิซึ่งผู้ครอบครองมีตามกฎหมาย

มาตรา 1373 ถ้าทรัพย์สินเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดไว้ในทะเบียนที่ดิน ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง

(หลักกฎหมายที่อาจจะ...ทำให้เจ้าของที่ดินแพ้คดี)...

มาตรา 1375 ถ้าผู้ครอบครองถูกแย่งการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมายไซร้ท่านว่าผู้ครอบครองมีสิทธิจะได้คืนซึ่งการครอบครอง เว้นแต่อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเหนือทรัพย์สินดีกว่าซึ่งจะเป็นเหตุให้เรียกคืนจากผู้ครอบครองได้

การฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองนั้น ท่านว่าต้องฟ้องภายในปีหนึ่งนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 124,038