กฎหมายแรงงาน

โดย: กีน [IP: 182.232.219.xxx]
เมื่อ: 2024-03-31 16:38:24
สอบถามหน่อยค่ะ ในกรณีที่เราทำงานโดยในสัญญาระบุไว้ว่าสามารถย้ายตำแหน่งงานเราได้ แล้ววันนึงก็มาบอกให้เราย้ายตำแหน่งงาน แต่เราเคยพูดเรื่องนี้กันหลายครั้งแล้วค่ะ ว่าไม่ถนัด และไม่ชอบในตำแหน่งงานที่จะย้ายไปค่ะ แบบนี้นายจ้างสามารถสั่งย้ายเราได้มั้ยคะ ช่วยแนะนำหน่อยค่ะ
#1 โดย: มโนธรรม [IP: 49.228.48.xxx]
เมื่อ: 2024-04-01 09:43:05
กฎหมายแรงงาน
จากคำถาม ตามพรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ไม่มีการบัญญัติเรื่องนี้ไว้โดยตรง มีเพียง ม.120 ที่ระบุเรื่องการย้ายสถานประกอบการ และ ม.121 ระบุเรื่องการปรับปรุงระบบการทำงาน เนื่องจากนำเครื่องจักรมาใช้ ทำให้ต้องลดจำนวนลูกจ้าง..นายจ้างต้องแจ้งล่วงหน้า ถ้าไม่แจ้งฯ ...ต้องจ่ายเงินชดเชย...กรณีที่ถาม เบื้องต้น ต้องใช้การเจารจากัน ถ้าไม่ประสบผล คงต้องฟ้องศาลแรงงาน...ทางออกที่สันติคือ ยินยอมไปทำงาน ในตำแหน่งใหม่ที่ถูกย้าย แม้ไม่ถนัด แต่ก็คงสามารถเรียนรู้กันได้... ได้ยกแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่เทียบเคียงกับเรื่องที่ถาม ก็ลองศึกษาดู.. ก็คงต้องใช้วิจารณญาณเอาเองว่าจะเลือกแบบใด ด้วยความปรารถนาดีครับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 868/2548
แม้นายจ้างจะมีอำนาจบริหารในการโยกย้ายตำแหน่งงานของลูกจ้างเพื่อให้เหมาะสมแก่งาน เพื่อให้การทำงานของลูกจ้างมีประสิทธิภาพซึ่งมิใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างก็ตาม แต่การย้ายนั้นต้องไม่เป็นการลดตำแหน่งหรือค่าจ้างของลูกจ้าง อีกทั้งไม่เป็นการกลั่นแกล้งลูกจ้างด้วย การที่จำเลยย้ายโจทก์ในตำแหน่งเลขานุการประสำนักงานใหญ่ฝ่ายจัดซื้อซึ่งทำงานธุรการในฝ่ายจัดซื้อไปดำรงตำแหน่งพนักงานทั่วไปประจำแผนกผักและผลไม้ สาขาสุขาภิบาล 1 ของจำเลยซึ่งทำหน้าที่จัดเตรียมสินค้าและชั่งผลไม้ รวมทั้งทำความสะอาดในบริเวณสถานที่ซึ่งมีลักษณะงานที่ด้อยกว่าเดิม ทั้งเป็นการย้ายโจทก์จากตำแหน่งเลขานุการซึ่งเป็นพนักงานระดับ 4 ไปเป็นพนักงานทั่วไปประจำแผนกผักและผลไม้ ซึ่งหัวหน้าแผนกดังกล่าวเป็นพนักงานระดับ 3 จึงเป็นการย้ายที่ลดตำแหน่งของโจทก์ลง แม้จะจ่ายค่าจ้างเท่าเดิม ก็เป็นคำสั่งย้ายที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ การที่โจทก์ปฏิเสธไม่ยอมไปทำงานในตำแหน่งใหม่ที่ต่ำกว่าเดิมนั้น มิใช่เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของนายจ้าง จำเลยไม่อาจออกหนังสือเตือนในการกระทำของโจทก์ดังกล่าวได้ การที่โจทก์ปฏิเสธไม่ยอมไปทำงานในตำแหน่งใหม่จึงมิใช่เป็นการกระทำผิดซ้ำหนังสือเตือนตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 119 (4) เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

คำพิพากษาย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2543 จำเลยได้จ้างโจทก์ให้เข้าทำงานในตำแหน่งเลขานุการ เริ่มทำงานตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2543 โดยประจำที่สำนักงานใหญ่ฝ่ายจัดซื้อ รัชดาภิเษก ต่อมาเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2545 โจทก์ได้รับการโอนย้ายตำแหน่งไปรับงานใหม่ในตำแหน่งพนักงานทั่วไปประจำแผนกผักและผลไม้ สาขาสุขาภิบาล 1 การโอนย้ายตำแหน่งงานดังกล่าวเป็นการลดตำแหน่งของโจทก์ลงโดยไม่ชอบ ไม่เหมาะสมกับความรู้ความสามารถของโจทก์ และไม่มีเหตุผลในการย้าย เป็นการบังคับโจทก์ในทางอ้อมให้ไม่สามารถทำงานต่อไปได้โจทก์ได้ยื่นหนังสือปฏิเสธการโอนย้ายตำแหน่งงานต่อจำเลย จำเลยออกหนังสือยืนยันการโอนย้ายตำแหน่งงานพร้อมทั้งหนังสือตักเตือนการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยแก่โจทก์ โจทก์ได้ยื่นหนังสือยืนยันปฏิเสธการโอนย้ายตำแหน่งงานต่อจำเลยอีกครั้ง จนกระทั่งวันที่ 24 ธันวาคม 2545 จำเลยมีหนังสือบอกเลิกการจ้างต่อโจทก์ การบอกเลิกการจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่วงล่วงหน้า ค่าชดเชยจากการเลิกจ้าง ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีของโจทก์ที่ยังไม่ได้ใช้สิทธิค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณีประจำปีอีก 1 เท่าของค่าแรงในช่วงเวลานั้น ๆ ที่จำเลยยังไม่ได้มีการจ่ายให้โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์เพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลย จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินใด ๆ จากจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 47,700 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 15,900 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจำนวน 47,700 บาท ค่าทำงานในวันหยุดประเพณีประจำปี จำนวน 6,753.28 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 1,590 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 119,643.28 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี โดยให้นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า "ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2545 จำเลยย้ายโจทก์จากตำแหน่งเลขานุการประจำสำนักงานใหญ่ฝ่ายจัดซื้อ รัชดาภิเษก ไปดำรงตำแหน่งพนักงานทั่วไปประจำแผนกผักและผลไม้ของจำเลย สาขาสุขาภิบาล 1 แล้วโจทก์ไม่ยอมย้ายไปทำงานในตำแหน่งดังกล่าว จำเลยจึงมีหนังสือเตือนให้โจทก์ไปปฏิบัติงานตามตำแหน่งใหม่ แต่โจทก์ก็ไม่ยอมไปทำงานในตำแหน่งใหม่ตามหนังสือเตือน จำเลยจึงมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ตามเอกสารหมาย จล.4 ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2545 อ้างว่า โจทก์จงใจขัดคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของจำเลยอันเป็นการกระทำผิดซ้ำหนังสือเตือน เห็นว่า แม้นายจ้างจะมีอำนาจบริหารในการโยกย้ายตำแหน่งงานของลูกจ้าง เพื่อให้เหมาะสมแก่งาน เพื่อให้การทำงานของลูกจ้างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมิใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างก็ตาม แต่การย้ายนั้นต้องไม่เป็นการลดตำแหน่งหรือค่าจ้างของลูกจ้าง อีกทั้งไม่เป็นการกลั่นแกล้งลูกจ้างด้วย การที่จำเลยย้ายโจทก์ในตำแหน่งเลขานุการประจำสำนักงานใหญ่ฝ่ายจัดซื้อ ซึ่งทำงานธุรการในฝ่ายจัดซื้อไปดำรงตำแหน่งพนักงานทั่วไปประจำแผนกผักและผลไม้ สาขาสุขาภิบาล 1 ของจำเลยซึ่งทำหน้าที่จัดเตรียมสินค้าและชั่งผลไม้ รวมทั้งทำความสะอาดในบริเวณสถานที่ซึ่งมีลักษณะงานที่ด้อยกว่าเดิม อีกทั้งเป็นการย้ายโจทก์จากตำแหน่งเลขานุการ ซึ่งเป็นพนักงานระดับ 4 ไปเป็นพนักงานทั่วไปประจำแผนกผักและผลไม้ ซึ่งหัวหน้าแผนกดังกล่าวเป็นพนักงานระดับ 3 จึงเป็นการย้ายที่ลดตำแหน่งของโจทก์ลง แม้จะจ่ายค่าจ้างเท่าเดิม ก็เป็นคำสั่งย้ายที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ การที่โจทก์ปฏิเสธไม่ยอมไปทำงานในตำหน่งใหม่ที่ต่ำกว่าเดิมนั้น มิใช่เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของนายจ้าง จำเลยไม่อาจออกหนังสือเตือนในการกระทำของโจทก์ดังกล่าวได้ การที่โจทก์ปฏิเสธไม่ยอมไปทำงานในตำแหน่งใหม่จึงมิใช่เป็นการกระทำผิดซ้ำหนังสือเตือนตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) เมื่อโจทก์ทำงานกับจำเลยครบ 1 ปีแต่ยังไม่ครบ 3 ปี จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าวโดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า จึงต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายจำนวน 90 วัน เป็นเงิน 47,700 บาท ตามมาตรา 118 (2) และต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามมาตรา 17 วรรคสองและวรรคสี่ ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 และการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยที่โจทก์มิได้ฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของนายจ้าง จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่มีเหตุอันสมควร ถือเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมต้องจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์นั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ทั้งสองข้อของจำเลยฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ขณะที่โจทก์โอนย้ายไปดำรงตำแหน่งพนักงานประจำแผนกผักและผลไม้นั้น หัวหน้าแผนกผักและผลไม้ได้เลื่อนระดับจากระดับ 3 ขึ้นเป็นระดับ 4 แล้ว จำเลยจึงมิได้ย้ายโจทก์ไปทำงานในตำแหน่งที่ต่ำกว่าเดิมนั้น เป็นการโต้แย้งข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาว่าขณะที่จำเลยมีคำสั่งย้ายโจทก์ไปดำรงตำแหน่งพนักงานประจำแผนกผักและผลไม้ สาขาสุขาภิบาล 1 นั้น หัวหน้าแผนกดังกล่าวเป็นพนักงานระดับ 3 จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย และที่จำเลยอุทธรณ์ข้อ 2.2 ว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริง ตามเอกสารหมาย ล.5 และ ล.6 ว่ามีเพียงวันหยุดประจำสัปดาห์และวันหยุดพักผ่อนประจำปี โดยไม่มีวันหยุดตามประเพณีรวมอยู่นั้น เป็นการรับฟังข้อเท็จจริงที่ไม่ตรงตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏเป็นการรับฟังพยานหลักฐานที่ไม่ชอบ ต้องฟังข้อเท็จจริงว่า ตามเอกสารหมาย ล.5 และ ล.6 จำเลยได้กำหนดให้มีการหยุดตามประเพณีรวมอยู่ด้วยแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณีให้แก่โจทก์นั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงาน เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง เช่นกัน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย"
พิพากษายืน

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 125,687