ที่ดินจำนองไว้กับธกส.เราสามารถเซ็นอุทิศพื้นที่เป็นสาธารณประโยชน์ได้หรือไม่คะ

โดย: Muk [IP: 182.52.45.xxx]
เมื่อ: 2024-04-27 05:49:25
อบต.มาขอให้เราเซ็นอุทิศพื้นที่เพื่อขุดเจาะบ่อบาดาลให้หมู่บ้านแต่ที่ดินตรงนั้นจำนองไว้กับธกส.เราสามารถเซ็นอุทิศเป็นที่สาธารณประโยชน์ได้หรือไม่ หรือต้องทำอย่างไรคะ
#1 โดย: มโนธรรม [IP: 49.228.48.xxx]
เมื่อ: 2024-04-27 12:13:17
การอุทิศที่ดิน

แม้ที่ดินติดจำนอง ก็สามารถอุทิศให้แก่สาธารณะประโยชน์ เพียงทำหนังสืออุทิศ แก่ อบต. ไม่ต้องจดทะเบียนโอน ก็ถือว่าสมบูรณ์ ใช้บังคับได้ มีแนวคำพิพากษาหลายๆฎีกา ที่วินิจฉัยไปในทำนองเดียวกันว่า การอุทิศที่ดินเพื่อสาธารณะประโยชน์ไม่ต้องจดทะเบียนโอนก็ได้... แต่มีหลักกฎหมาย ที่ควรรู้ไว้ คือ ตาม ปพพ. ม.722 สรุปคือ การอุทิศที่ดินให้เป็นสาธารณะประโยชน์ ย่อมเกิดภาระจำยอมแก่ที่ดิน ธนาคารเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิจำนองที่ใหญ่กว่าภาระจำยอม ธนาคารสามารถขอให้ลบสิทธินั้นได้ แต่..เป็นเรื่องทางแพ่ง ในทางปฏิบัติ เมื่อเจ้าของอุทิศที่ดิน เพื่อเจาะบาดาล เพื่อประโยชน์ฺสาธารณะ ธกส. ไม่น่าจะมาขอให้เพิกถอนภาระจำยอมนั้น แต่...ถ้าเจรจาทำความเข้าใจกับ ผจก.ธกส.ก่อน ก็น่าจะดีที่สุด ด้วยความปรารถนาดี ครับ


แนวคำพิพากษาเทียบเคียง
คำพิพากษาฎีกาที่ 264/2555 จำเลยอุทิศที่ดินของตนให้สร้างทางพิพาทเพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน แม้จะเป็นการอุทิศด้วยวาจา มิได้ทำเป็นหนังสือและมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 ก็ตาม แต่การอุทิศที่ดินให้ใช้เป็นถนนสาธารณะ เช่นนี้ เป็นการสละที่ดินให้เป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2)
หาจำต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการให้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 525 ไม่ การอุทิศด้วยวาจาก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย และสภาพความเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่อาจสูญสิ้นไปเพราะการไม่ได้ใช้แม้จำเลยได้กลับเข้าครอบครองใช้ประโยชน์ที่ดินที่เป็นถนนสาธารณสมบัติของแผ่นดินดังกล่าวแล้วนานเพียงใดก็ตาม ก็ไม่ทำให้ทางพิพาทตกไปเป็นของจำเลยได้อีกเพราะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1306 บัญญัติห้ามมิให้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับแผ่นดินในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน

ฎีกาที่ 10532/2551
จำเลยที่ 1 นำที่ดินโฉนดเลขที่ 12844 ไปจดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 2 ภายหลังจำเลยที่ 1 ตกลงยินยอมจดทะเบียนภาระจำยอมให้แก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 2 มิได้รู้เห็นยินยอม ซึ่งการจะจดทะเบียนภาระจำยอมในที่ดินดังกล่าวได้ต้องไม่ทำให้เป็นที่เสื่อมเสียสิทธิของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับจำนองในเวลาบังคับจำนอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 722 ข้อเท็จจริงปรากฏว่าที่ดินดังกล่าวเมื่อมีการบังคับคดีขายทอดตลาดถึง 9 ครั้ง ไม่สามารถขายได้ ทั้งๆ ที่ยังไม่มีการจดทะเบียนภาระจำยอมให้โจทก์ หากมีการจดทะเบียนภาระจำยอมทำให้ราคาทรัพย์จำนองลดลงเป็นที่เสื่อมเสียสิทธิของจำเลยที่ 2 ในเวลาบังคับจำนอง สิทธิจำนองของจำเลยที่ 2 ที่ได้จดทะเบียนไว้ก่อนย่อมเป็นใหญ่กว่าภาระจำยอมของโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องส่งมอบที่ดินดังกล่าวให้แก่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสระบุรี สาขาหนองแค เพื่อทำการจดทะเบียนภาระจำยอมให้แก่โจทก์.

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 125,768