ละเมิด

โดย: Mix [IP: 1.10.223.xxx]
เมื่อ: 2021-07-20 18:56:12
ผมสงสัยเรื่องการบวกมาตราเข้าด้วยกันครับถ้าความรับผิดที่เกิดจากการกระทำของเรานะครับจะต้องเป็นมาตรา420+อะไรก็ได้ในการกระทำของคน แล้วถ้าเป็นความผิดตามมาตรา425 428ต้องอาศัยมาตรา420ด้วยไหมครับ เท่าที่ผมคิดคือต้องอาศัยเพราะใน2มาตรานี้ไม่ได้บอกความผิดไว้เลยตามมาตรา420

ส่วนมาตราที่เกิดจากการกระทำของทรัพย์สิน หรือสัตว์เนี่ยครับต้องอาศัยมาตรา420ไหมครับ
#1 โดย: มโนธรรม [IP: 223.205.223.xxx]
เมื่อ: 2021-07-21 10:30:20
การละเมิด

ปพพ. ม.420 เป็นหลักการของการละเมิด คืออธิบายบอกว่า การละเมิดคืออะไร ( จงใจ ปะมาทเลินเล่อ ฯ ต้องชดใช้ค่าสินไหมฯ) ส่วน ม.อื่นๆ เช่น ม.425 ม.428 เป็นเรื่องของรับผิดของนายจ้าง นายจ้างจะต้องรับผิดหรือไม่ ก็ต้องเปฺ็นไปตามหลักการ ของ ม.420 ก็จำเป็นต้องอ้างอิงเกี่ยวเนื่องกัน...แม้แต่ในคำพิพากษาของศาลฎีกา ก็ยังต้องอ้างอิง ม.420 ประกอบเสมอ...ดังตัวอย่าง

ฎีกาที่ 292/2542


คำพิพากษาย่อสั้น



จำเลยที่ 2 เป็นแพทย์ผู้ได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาแพทย์และเป็นผู้ชำนาญพิเศษ ในแขนงสาขาวิชาศัลยศาสตร์ตกแต่งจากประเทศญี่ปุ่น จำเลยที่ 2 กระทำการผ่าตัดหน้าอกโจทก์ ที่มีขนาดใหญ่ให้มีขนาดเล็กลงตามสภาพปกติที่โรงพยาบาลจำเลยที่ 1 หลังผ่าตัดแล้วจำเลยที่ 2 นัดให้โจทก์ไปผ่าตัดแก้ไขที่คลีนิกจำเลยที่ 2 อีก 3 ครั้ง แต่อาการไม่ดีขึ้น โจทก์จึงให้แพทย์อื่น ทำการรักษาต่อโดยเดิมจำเลยที่ 2 ทำการผ่าตัดหน้าอกในวันที่ 12 เมษายน 2537 รักษาตัว ที่โรงพยาบาล 1 วัน วันที่ 13 เมษายน 2537 จำเลยที่ 2 อนุญาตให้โจทก์กลับบ้าน วันที่ 15 เมษายน 2537 จำเลยที่ 2 เปิดแผลพบมีน้ำเหลืองไหลบริเวณปากแผลทรวงอกไม่มีร่องอก มีก้อนเนื้ออยู่บริเวณ รักแร้ด้านขวา เต้านมด้านซ้ายมีขนาดใหญ่กว่าด้านขวา และส่วนที่เป็นหัวนมจะมีบาดแผลที่คล้ายเกิดจากการถูกไฟไหม้ จำเลยที่ 2 รับว่าเกิดจากการผิดพลาดในการผ่าตัดแล้วแจ้งว่าจะดำเนินการแก้ไขให้ จำเลยที่ 2นัดให้โจทก์ไปทำแผลดูดน้ำเหลืองออกจากบริเวณทรวงอก และได้มีการผ่าตัดแก้ไขทรวงอกอีก 3 ครั้งแต่โจทก์เห็นว่าทรวงอกไม่มีสภาพดีขึ้น ประกอบกับระยะเวลาล่วงเลยมานานจึงเปลี่ยนแพทย์ใหม่ และแพทย์ที่ทำการรักษาต่อจากจำเลยที่ 2 ได้ทำการผ่าตัดเพื่อแก้ไขทรวงอก 3 ครั้ง จนมีสภาพทรวงอกดีขึ้นกว่าเดิม การที่แพทย์ต้องทำการผ่าตัดแก้ไขอีก 3 ครั้ง แสดงว่าจำเลยที่ 2 ผ่าตัดมามีข้อบกพร่องต้องแก้ไขยิ่งกว่านั้นการที่โจทก์ให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นแพทย์เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมด้านเลเซอร์ผ่าตัด แสดงว่าจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ต้องใช้ความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์เป็นพิเศษ การที่จำเลยที่ 2 ผ่าตัดโจทก์เป็นเหตุให้ต้องผ่าตัดโจทก์เพื่อแก้ไขถึง 3 ครั้ง ย่อมแสดงว่าจำเลยที่ 2 ไม่ใช้ความระมัดระวังในการผ่าตัดและไม่แจ้งให้ผู้ป่วยทราบถึงขั้นตอนการรักษาระยะเวลาและกรรมวิธีในการดำเนินการรักษาจนเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย นับว่าเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ทำละเมิดต่อโจทก์
โจทก์ติดต่อกับจำเลยที่ 2 ที่คลีนิกของจำเลยที่ 2 เมื่อตกลงจะผ่าตัดจำเลยที่ 2 จึงตกลงให้โจทก์เข้าผ่าตัดในโรงพยาบาลของจำเลยที่ 1 เพียงเท่านี้ย่อมฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 2 หรือเป็นตัวการมอบหมายให้จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนทำการผ่าตัดให้โจทก์ จำเลยที่ 2 กระทำละเมิดต่อโจทก์โดยภายหลังจากที่โจทก์ทำการผ่าตัดกับจำเลยที่ 2 แล้ว โจทก์มีอาการเครียดเนื่องจากมีอาการเจ็บปวดต่อมาภายหลังพบว่าการทำศัลยกรรมไม่ได้ผลทำให้โจทก์เครียดมากกังวลและนอนไม่หลับรุนแรงกว่าก่อนผ่าตัด โจทก์จึงให้แพทย์อื่นทำการรักษา ดังนี้ แม้โจทก์จะมีการเครียดอยู่ก่อนผ่าตัด แต่เมื่อหลังผ่าตัดอาการมากขึ้นกว่าเดิมความเครียดของโจทก์จึงเป็นผลโดยตรงมาจากการผ่าตัด จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดในค่าใช้จ่ายที่โจทก์ต้องรักษาจริง ส่วนค่าเสียหายที่เป็นค่าใช้จ่ายหลังจากแพทย์โรงพยาบาลอื่นได้รักษาโจทก์อยู่ในสภาพปกตแล้ว โจทก์จึงไม่อาจเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินนั้นอีก

คำพิพากษาย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการโรงพยาบาล จำเลยที่ 2 เป็นศัลยแพทย์และเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2537 โจทก์ได้เข้าทำการศัลยกรรมเต้านมที่โรงพยาบาลของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 ในฐานะลูกจ้างหรือตัวแทนเป็นผู้ทำศัลยกรรมลดขนาดเต้านมของโจทก์ให้เล็กลง แต่จำเลยที่ 2 ได้กระทำโดยประมาทเลินเล่อทำให้สภาพเต้านมทั้งสองข้างกลายเป็นก้อนเนื้อที่ติดกันเพียงก้อนเดียวและหมดความรู้สึกในการตอบสนองการสัมผัสและไม่มีหัวนม หลังจากได้รับการผ่าตัดแล้วมีอาการติดเชื้ออย่างรุนแรงเป็นเหตุให้มีน้ำเหลืองไหลออกมาเป็นจำนวนมาก การกระทำของจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์เสียหาย ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดเป็นเงินจำนวน 100,000 บาท ค่ารักษาพยาบาลในการรักษาเต้านมเพิ่มขึ้นจำนวน 73,135 บาท และเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความทุกข์ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจ ซึ่งเป็นความเสียหายอันมิใช่ตัวเงินเป็นเงินจำนวน 1,200,000 บาท ทั้งโจทก์จะต้องเสียค่ารักษาพยาบาลในอนาคตอีกเป็นจำนวน 700,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นแพทย์ผู้ได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาแพทย์และเป็นผู้ชำนาญพิเศษในแขนงสาขาวิชาศัลยศาสตร์ตกแต่งจากประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2537 จำเลยที่ 2 กระทำการผ่าตัดหน้าอกโจทก์ที่มีขนาดใหญ่ให้มีขนาดเล็กลงมีสภาพปกติที่โรงพยาบาลจำเลยที่ 1 หลังผ่าตัดแล้วจำเลยที่ 2 นัดให้โจทก์ไปผ่าตัดแก้ไขที่คลีนิกจำเลยที่ 2 อีก 3 ครั้ง แต่อาการไม่ดีขึ้น โจทก์จึงให้แพทย์อื่นทำการรักษาต่อ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ข้อแรกว่า จำเลยที่ 2 ทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์เบิกความว่า จำเลยที่ 2 ทำการผ่าตัดหน้าอกในวันที่ 12 เมษายน 2537 รักษาตัวที่โรงพยาบาล 1 วัน วันที่ 13 เมษายน 2537 จำเลยที่ 2 อนุญาตให้โจทก์กลับบ้าน วันที่ 15 เมษายน 2537 จำเลยที่ 2 เปิดแผลพบมีน้ำเหลืองไหลบริเวณปากแผลทรวงอกไม่มีร่องอกมีก้อนเนื้ออยู่บริเวณรักแร้ด้านขวา เต้านมด้านซ้ายมีขนาดใหญ่กว่าด้านขวา และส่วนที่เป็นหัวนมจะมีบาดแผลที่คล้ายเกิดจากการถูกไฟไหม้ พยานสอบถามจำเลยที่ 2 บอกว่าเกิดจากการผิดพลาดในการผ่าตัดแล้วแจ้งว่าจะดำเนินการแก้ไขให้ จำเลยที่ 2 นัดให้พยานไปทำแผลดูดน้ำเหลืองออกจากบริเวณทรวงอก และได้มีการผ่าตัดแก้ไขทรวงอกอีก 3 ครั้ง หลังจากนั้นพยานเห็นว่าทรวงอกไม่มีสภาพดีขึ้น ประกอบกับระยะเวลาล่วงเลยมานานจึงเปลี่ยนแพทย์ใหม่ และนายดิลก เต็มเสถียร ซึ่งเป็นแพทย์ที่ทำการรักษาต่อจากจำเลยที่ 2 เบิกความสนับสนุนว่าโจทก์แจ้งกับพยานว่าได้ทำศัลยกรรมทรวงอกโดยการผ่าตัดมาแต่ยังไม่เป็นที่พอใจ ขอให้พยานทำการแก้ไข ขณะที่โจทก์มาพบพยานบริเวณทรวงอกของโจทก์มีรอยแผลการผ่าตัดมีขนาดไม่ใหญ่ไม่เล็ก แต่ไม่มีอาการเจ็บปวด แต่ปรากฏว่าบริเวณดังกล่าวยังทำศัลยกรรมไม่แล้วเสร็จ พยานทำการผ่าตัดเพื่อแก้ไขทรวงอก 3 ครั้ง ปัจจุบันมีสภาพทรวงอกดีขึ้นกว่าเดิมเห็นว่า พยานทั้งสองเบิกความสอดคล้องต้องกัน โดยเฉพาะแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดคนหลังเป็นพยานคนกลางสอดคล้องกับโจทก์ คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองน่าเชื่อ มีน้ำหนักรับฟังได้แม้พยานโจทก์ทั้งสองไม่สามารถนำสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ประมาทเลินเล่อในการผ่าตัดและรักษาพยาบาลโจทก์อย่างไร แต่การที่นายแพทย์ดิลกทำการผ่าตัดแก้ไขอีก 3 ครั้ง แสดงว่าจำเลยที่ 2 ผ่าตัดมามีข้อบกพร่อง จึงต้องแก้ไข ยิ่งกว่านั้นการที่โจทก์ให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นแพทย์เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมด้านเลเซอร์ผ่าตัด แสดงว่าจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ต้องใช้ความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์เป็นพิเศษ แต่การที่จำเลยที่ 2 ผ่าตัดโจทก์เป็นเหตุให้ต้องผ่าตัดโจทก์เพื่อแก้ไขถึง 3 ครั้งแสดงว่าจำเลยที่ 2 ไม่ใช้ความระมัดระวังในการผ่าตัดและไม่แจ้งให้ผู้ป่วยทราบถึงขั้นตอนการรักษา ระยะเวลา และกรรมวิธีในการดำเนินการรักษา จนเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย นับว่าเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ทำละเมิดต่อโจทก์
ส่วนประเด็นพิพาทข้ออื่นที่ศาลล่างทั้งสองยังไม่ได้วินิจฉัยซึ่งศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปตามพยานหลักฐานในสำนวนโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยก่อน มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์หรือไม่โจทก์มีนายเพียรเทพ พงษ์สะบุตร บุตรชาย ของโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า พยานกับโจทก์ได้ไปพบจำเลยที่ 2 ที่คลีนิกซึ่งเปิดอยู่บริเวณสุโขทัยแมนชั่น จำเลยที่ 2 แนะนำว่าโจทก์ควรทำศัลยกรรมทรวงอกโดยใช้แสงเลเซอร์ โจทก์ตกลงรับรักษากับจำเลยที่ 2 และตกลงกันว่าให้โจทก์เข้าทำการรักษาผ่าตัดที่โรงพยาบาลรามคำแหงจำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสองเรียกค่ารักษาพยาบาลโจทก์จำนวน 100,000 บา โดยพยานสั่งจ่ายเช็คให้จำเลยที่ 2 จำนวน 70,000 บาท ส่วนที่เหลืออีก 30,000 บาท จ่ายให้แก่จำเลยที่ 1ส่วนจำเลยนำสืบว่าการผ่าตัดรายใหญ่ที่นำไปรักษาตามโรงพยาบาลนั้น โรงพยาบาลจะคิดค่าห้องค่ารักษา และค่ายา ส่วนค่าผ่าตัดนั้นแพทย์ผู้ผ่าตัดจะคิดจากคนไข้ โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ผ่าตัดแต่เพียงผู้เดียว และมีหมอดมยาและพยาบาลของโรงพยาบาลเป็นผู้ช่วยเห็นว่า โจทก์นำสืบแต่เพียงว่าโจทก์ติดต่อกับจำเลยที่ 2 ที่คลีนิกของจำเลยที่ 2 เมื่อตกลงจะผ่าตัดจำเลยที่ 2 จึงตกลงให้โจทก์เข้าผ่าตัดในโรงพยาบาลของจำเลยที่ 1 พฤติการณ์ตามทางนำสืบของโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 2 หรือเป็นตัวการมอบหมายให้จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนทำการผ่าตัดให้โจทก์ จำเลยที่ 1 จึงหาจำต้องรับผิดต่อโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 2 ไม่
ปัญหาที่จะต้องพิจารณาต่อไปว่า จำเลยที่ 2 ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์หรือไม่เพียงใด เห็นว่า ค่ารักษาพยาบาลโจทก์ที่โรงพยาบาลรามคำแหงเป็นเงิน 29,826 บาท ค่ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลปิยะเวทเป็นเงิน 73,135.70 บาท และค่ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลสมิติเวช 33,624 บาท และ 52,927 บาท โจทก์มีหลักฐานมาแสดง มีน้ำหนักรับฟังได้ เชื่อว่าโจทก์จ่ายไปจริง ส่วนค่าผ่าตัดของจำเลยที่ 2 แม้จะไม่มีหลักฐานใบรับเงินแต่จำเลยที่ 2 เบิกความรับ จึงรับฟังได้ รวมค่ารักษาพยาบาลเป็นเงิน 259,512.70 บาท นอกจากนั้นโจทก์ยังมีนายแพทย์ธานี เสทะธัญ ซึ่งทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราชและโรงพยาบาลปากเกร็ดเวชการเบิกความว่า ภายหลังจากที่โจทก์ทำการผ่าตัดกับจำเลยที่ 2 แล้ว มีอาการเครียดเนื่องจากมีอาการเจ็บปวด ต่อมาภายหลังพบว่าการทำศัลยกรรมไม่ได้ผล ทำให้โจทก์เครียดมาก กังวลและนอนไม่หลับรุนแรงกว่าก่อนผ่าตัด พยานจึงทำการรักษา เห็นว่า แม้โจทก์จะมีการเครียดอยู่ก่อนผ่าตัดแต่เมื่อหลังผ่าตัดอาการมากขึ้นกว่าเดิม ความเครียดของโจทก์จึงเป็นผลโดยตรงมาจากการผ่าตัด จำเลยต้องรับผิด และแม้ไม่มีใบเสร็จมาแสดงว่าได้เสียเงินไปเป็นจำนวนเท่าใดแน่นอน แต่น่าเชื่อว่าโจทก์ต้องรักษาจริง จึงเห็นสมควรกำหนดค่าใช้จ่ายส่วนนี้เป็นเงิน 50,000 บาท รวมค่าเสียหายทั้งสิ้น 309,512.70 บาท เมื่อจำเลยที่ 2 ทำละเมิดต่อโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ต้องเสียหายไปดังกล่าว จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดใช้คืนให้โจทก์ส่วนค่าเสียหายอย่างอื่นนั้นเมื่อปรากฏว่าหลังจากแพทย์โรงพยาบาลอื่นได้รักษาโจทก์อยู่ในสภาพปกติแล้ว โจทก์จึงไม่อาจเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 309,512.70 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ยกฟ้องจำเลยที่ 1

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 427
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 446

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 123,600