ทนายที่ปรึกษาขอหนังสือรับรองพนักงาน

โดย: วณิช [IP: 58.8.213.xxx]
เมื่อ: 2021-10-16 16:15:36
บริษัทได้มีการว่าจ้างทนายที่ปรึกษา โดยมีการชำระค่าจ้างเป็นรายเดือน

คำถาม

1.ทนายที่ปรึกษาถือว่าเป็นพนักงานของบริษัทไหมคะ (ไม่ได้เข้าประจำที่บริษัท ไม่ต้องตอกบัตร สแกนนิ้ว หรือรายงานตัว)

2. บริษัทจำเป็นต้องออกหนังสือรับรองพนักงานไหมคะ ถ้าออกให้ถือว่าถูกต้องไหมคะ หรือถ้าไม่ออกให้ จะขัดกับกฏหมายไหมคะ
#1 โดย: มโนธรรม [IP: 223.205.250.xxx]
เมื่อ: 2021-10-17 02:49:29
จ้างทำของ
การจ้างทนายความ ถือว่าเป็นการจ้างทำของ ผู้ว่าจ้างไม่ได้มีอำนาจบังคับบัญชาผู้รับจ้าง เพียงมุ่งหวังงานสำเร็จเป็นงานๆไปเท่านั้น ทนายความจึงไม่ใช่ลูกจ้างของบริษัท หรือไม่ใช่พนักงานของบริษัท...

1.ทนายที่ปรึกษาถือว่าเป็นพนักงานของบริษัทไหมคะ (ไม่ได้เข้าประจำที่บริษัท ไม่ต้องตอกบัตร สแกนนิ้ว หรือรายงานตัว)
ตอบ...ดังความเห็นข้างต้น ทนายความไม่ใช่ลูกจ้างฯ หรือไม่ใช่พนักงานของบริษัท

2. บริษัทจำเป็นต้องออกหนังสือรับรองพนักงานไหมคะ ถ้าออกให้ถือว่าถูกต้องไหมคะ หรือถ้าไม่ออกให้ จะขัดกับกฏหมายไหมคะ
ตอบ...ถ้าจะออกใบรับรองให้ก็ได้ แต่ควรระบุให้ชัดเจนว่า ทนายฯเป็นผู้ทำของรับงานเป็นงานๆไปเท่านั้น ถ้าไปรับรองเป็นพนักงาน หรือลูกจ้าง อาจจะมาเรียกร้องสิทธิต่างๆในฐานะลูกจ้าง เช่น ค่าชดเชย ค่าล่วงเวลา ค่าชดเชยที่บอกเลิกจ้าง เป็นต้น

แนวคำพิพากษาศาลฎีกาเทียบเคียง

ฎีกาที่ 7153/2551

สัญญาจ้างว่าความเป็นสัญญาจ้างทำของจึงอยู่ในบังคับของ ป.พ.พ. โจทก์ในฐานะผู้ว่าจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญา (ถอนจากการเป็นทนายความ) ได้ตราบใดที่การที่จ้างยังทำไม่ได้แล้วเสร็จ เพียงแต่โจทก์จะต้องเสียค่าสินไหมทดแทนให้แก่จำเลยผู้รับจ้างเพื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 605 แต่ข้อสัญญาจ้างว่าความที่กำหนดห้ามโจทก์บอกเลิกสัญญามิได้ห้ามเด็ดขาดเพียงแต่หากเลิกสัญญา โจทก์จะต้องชำระค่าทนายความ (ค่าจ้าง) ที่ค้างอยู่ทั้งหมดทันทีเท่านั้น ข้อสัญญานี้จึงไม่ตกเป็นโมฆะ ส่วนข้อสัญญาให้โจทก์ผู้ว่าจ้างต้องรับผิดชำระค่าจ้างที่ค้างอยู่ทั้งหมดนั้น ก็เป็นข้อตกลงที่ไม่ขัดต่อกฎหมายและความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนจึงมีผลใช้บังคับได้เช่นกัน ดังนั้น เมื่อสัญญาจ้างว่าความเป็นสัญญาจ้างทำของ ผู้ว่าจ้างจะชำระค่าจ้างเต็มตามสัญญาก็ต่อเมื่อผู้รับจ้างทำการที่จ้างแล้วเสร็จ เมื่อจำเลยยังทำการที่จ้างไม่แล้วเสร็จจึงไม่มีสิทธิที่จะได้รับค่าจ้างเต็มจำนวน การที่ตกลงให้โจทก์ผู้ว่าจ้างรับผิดเต็มจำนวน จึงเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้า อันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ หากสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจลดลงได้

ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 122,927